“พิษณุ” เปิดโครงการนำร่องแก้ปัญหาครูมีหนี้สินวิกฤติ ให้ครูรวมหนี้ไว้ที่ สกสค.คิดดอกเบี้ยไม่เกิน ร้อยละ 3.5 ต่อปี บนเงื่อนไขไม่ก่อหนี้เพิ่ม
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่หอประชุมคุรุสภา มีการประชุมปฏิบัติการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตครู โดยมีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีปัญหาหนี้สินต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากทุกจังหวัด ร่วมรับฟังนโยบาย ประมาณ 260 คน ซึ่ง ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กล่าวว่า วันนี้เป็นการเริ่มต้นนำร่องโครงการแก้ไขปัญหาครูและบุคลากรทางการศึกษากลุ่มที่มีหนี้สินวิกฤติ ซึ่งจากการสำรวจข้อมูล พบว่า มีผู้ที่มีหนี้สินขั้นวิกฤติ ประมาณ 30,000 คน มีหนี้เฉลี่ยคนละ 2-3 ล้านบาท ซึ่งการแก้ไขปัญหา สกสค.ได้น้อมนำพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติ คือ ค่อยๆทำ เรียนรู้ และค่อยๆขยายผล โดยเริ่มนำร่องแก้ไขปัญหาให้ครู ทั้งที่ยังประจำการอยู่และออกจากราชการไปแล้ว โดยคัดเลือกผู้ที่เป็นหนี้วิกฤติมาจังหวัดละ 10 คน รวม 770 คน เพื่อฟังกติกาการเข้าร่วมโครงการฯ เพราะต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ
ดร.พิษณุ กล่าวต่อไปว่า วิธีการแก้ไขปัญหาเริ่มจากกลุ่มที่เป็นหนี้วิกฤติสูงถูกยื่นฟ้อง กำลังจะล้มละลายก่อน โดยให้รวมหนี้สินที่ครูมีทั้งหมดเป็นก้อนเดียว ซึ่งสกสค.จะส่งเงินชำระหนี้ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยครูต้องมาทำสัญญากู้เงินและผ่อนชำระที่สหกรณ์ฯ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยต่ำไม่เกิน ร้อยละ 3.5 ต่อปี เพื่อให้หักเงินต้นได้มากขึ้นระยะเวลาชำระหนี้สั้นลง ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าผู้เข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่ก่อหนี้เพิ่ม โดยผู้บังคับบัญชาต้องเซ็นอนุมัติการกู้และต้องไม่ให้ครูที่ร่วมโครงการฯไปกู้ที่ไหนอีก ตลอดจนเข้ารับการอบรมเศรษฐกิจพอเพียง ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้โดยพัฒนาต่อยอดความรู้ ความสามารถที่มี ซึ่งเมื่อครูผ่อนชำระหนี้เข้าโครงการฯ ทางสกสค.ก็จะขยายผลเพิ่มจำนวนผู้กู้มากขึ้นเรื่อยๆ โดยขณะนี้ สกสค.มีทุนเริ่มต้นในการดำเนินโครงการ ประมาณ 1,000 ล้านบาท และจากการเจรจากับสถาบันการเงิน 3-4 แห่งก็ยินดีเข้าร่วมโครงการ แต่ตนอยากให้โครงการนี้ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งนี้ภายในเดือนมกราคมนี้จะเชิญประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูทั่วประเทศมาประชุมทำความเข้าใจ
"ขณะนี้ได้มีการตั้งบุคลากรเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน ประจำในสกสค.จังหวัดแล้ว 70 จังหวัด โดยจะมีโปรแกรมคำนวณหนี้สิน รายรับและรายจ่ายทั้งหมดของครูว่า แต่ละเดือนต้องผ่อนชำระหนี้เท่าใด และภายในกี่ปี ถึงจะปลดหนี้ได้ ซึ่งครูสามารถไปขอคำแนะนำเพื่อวางแผนทางการเงินและสมัครเข้าร่วมโครงการได้"ดร.พิษณุ กล่าว
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม 2560