เปิดเบื้องหลัง คำสั่ง หน.คสช. ใช้ ม.44 ปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ ยุบ “อ.ก.พ.” เหลือชุดเดียว ก่อนเปิด 24 ตำแหน่ง “ศึกษาธิการภาค” และ รองฯ เพื่อเคลื่อนนโยบายรัฐบาล เผย อดีต รมว.ศึกษาฯ ชงไว้ก่อนนั่งองคมนตรี ให้เกลี่ยอัตรากำลัง “ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10” ของทุกส่วนราชการมาใช้เป็นฐาน ในการกำหนดตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. เพิ่มจำนวน 6 ตำแหน่ง รวมกับผู้ตรวจราชการ ศธ. ที่มีอยู่ 12 ตำแหน่ง เป็น 18 ตำแหน่ง เพื่อมอบหมายผู้ตรวจราชการ ศธ. ให้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.)
วันนี้ (10 ม.ค.) มีรายงานว่า หลังจากราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑/๒๕๖๐ เรื่อง การแก้ไขปัญหาการบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ
โดยที่ปัจจุบันกระทรวงศึกษาธิการมี อ.ก.พ. กรม ที่ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง จำนวนห้าคณะ ตามที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการกำหนดไว้ แต่การดำเนินการ ในลักษณะดังกล่าวส่งผลให้การบริหารงานบุคคลของกระทรวงศึกษาธิการ มีความแตกต่างและไม่เป็นเอกภาพในด้านมาตรฐานของการบริหารงานบุคคล นอกจากนี้ ในการบริหารราชการของ กระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ยังมีปัญหาเกี่ยวกับอัตรากำลังและการกำหนดตำแหน่งศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาค เพื่อรองรับการจัดตั้งสำนักงานศึกษาธิการภาค ตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ ๑๑/๒๕๕๙ เรื่อง การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค ลงวันที่ ๒๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องกำหนดให้กระทรวงศึกษาธิการ มี อ.ก.พ. ขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อทำหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง เพียงคณะเดียว และให้มีการเกลี่ยอัตรากำลังในกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งเป็นศึกษาธิการภาคและรองศึกษาธิการภาค อันจะทำให้สามารถขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและ การบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๔ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีคำสั่ง ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ให้กระทรวงศึกษาธิการมี อ.ก.พ. กระทรวง คณะหนึ่ง ประกอบด้วย
(๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน
(๒) ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นรองประธาน
(๓) อนุกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้แทน ก.พ. ซึ่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสำนักงาน ก.พ. จำนวนหนึ่งคน
(๔) อนุกรรมการซึ่งประธานแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการบริหารและการจัดการ และด้านกฎหมาย ซึ่งมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในความสามารถมาแล้วและมิได้เป็นข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนไม่เกินสามคน
(๕) อนุกรรมการซึ่งประธานแต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูงในกระทรวงศึกษาธิการซึ่งต้องมิใช่อนุกรรมการตาม (๓) โดยให้คัดเลือกกันเองจากข้าราชการ พลเรือนผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว จำนวนไม่เกินห้าคน ให้ อ.ก.พ. นี้ตั้งเลขานุการ จำนวนหนึ่งคน
ข้อ ๒ ให้ อ.ก.พ. กระทรวง มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ แห่ง พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ และตามกฎหมายอื่น
ข้อ ๓ หลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาหรือการเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการตาม ข้อ ๑ (๔) และ (๕) วาระการดำรงตำแหน่ง และจำนวนขั้นต่ำของอนุกรรมการดังกล่าว ให้เป็นไป ตามที่กำหนดในกฎ ก.พ. ในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามกฎ ก.พ. ตามวรรคหนึ่งได้ ให้กระทรวงศึกษาธิการทำความตกลงกับ ก.พ.
ข้อ ๔ ให้สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ รับผิดชอบงานธุรการของ อ.ก.พ. กระทรวง
ข้อ ๕ มิให้นำความในมาตรา ๒๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ มาใช้บังคับแก่ อ.ก.พ. กรม ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา นักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ทั้งนี้ ให้ อ.ก.พ. กรม ดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ของ อ.ก.พ. กรม ตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑
ข้อ ๖ ในวาระเริ่มแรกให้ อ.ก.พ. กระทรวง ประกอบด้วยอนุกรรมการตามข้อ ๑ (๑) (๒) และ (๓) จนกว่าจะได้แต่งตั้งอนุกรรมการตามข้อ ๑ (๔) และ (๕) ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ
ข้อ ๗ การใดที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการตามอํานาจหน้าที่ของ อ.ก.พ. กรม ของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง ตามมาตรา ๒๒ วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. ๒๕๕๑ อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ให้ อ.ก.พ. กระทรวงตามคำสั่งนี้เป็นผู้ดำเนินการต่อไป ให้คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานอื่นใด ซึ่ง อ.ก.พ. กรม ที่ปฏิบัติหน้าที่ อ.ก.พ. กระทรวง แต่งตั้งไว้อยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า อ.ก.พ. กระทรวง ตามคำสั่งนี้จะได้มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
ข้อ ๘ ให้กระทรวงศึกษาธิการมีตำแหน่งศึกษาธิการภาค จำนวนสิบสองตำแหน่ง เป็น ข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง และมีตำแหน่งรองศึกษาธิการภาค จำนวนสิบสองตำแหน่ง เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น โดยให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังภายในกระทรวงศึกษาธิการเพื่อนำไปใช้ในการกำหนดตำแหน่ง
การเกลี่ยอัตรากำลังตามวรรคหนึ่ง ให้ตัดโอนอัตราตำแหน่งและเงินงบประมาณแผ่นดินประจำอัตรารวมตลอดทั้งงบบุคลากรที่จ่ายในลักษณะเงินเดือน ค่าจ้างประจำ และเงินอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งตั้งไว้สำหรับตำแหน่งที่เกลี่ยนั้นมาเป็นของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และการโอนหรือการนำรายจ่ายที่กำหนดไว้สำหรับส่วนราชการใดในกระทรวงศึกษาธิการตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมไปใช้สำหรับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ นอกเหนือจากกรณีตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ ให้กระทำได้
ข้อ ๙ ในกรณีเห็นสมควรนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีอาจเสนอให้คณะรักษาความสงบ แห่งชาติแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งนี้ได้
ข้อ ๑๐ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
สั่ง ณ วันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า สาเหตุที่คำสั่งหัวหน้า คสช. มาตรา 44 เนื่องจากการทำงานของ ศธ.มีปัญหาและแตกต่างจากกระทรวงอื่น โดยจะมีแท่งโครงสร้าง 5 แท่ง หรือ 5 องค์กรหลัก ประกอบด้วย 1. สำนักงานปลัดกระทรวง 2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 3. สำนักงานอาชีวะศึกษา 4. สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และ 5. สำนักงานคณะกรรมการเลขาธิการสภาการศึกษา ส่งผลให้มีข้าราชการระดับซี 11 ถึง 5 คน ในกระทรวง
ทั้งนี้ ในแต่ละองค์กรจะมีคณะอนุกรรมการวิสามัญคณะต่างๆ เพื่อทำการแทน ก.พ.และรับผิดชอบภารกิจตามบทบาทและหน้าที่ของ ก.พ. (อ.ก.พ.) จึงออกคำสั่งมาตรา 44 เพื่อยุบรวม อ.ก.พ. ให้เหลือเพียงแท่งเดียว เพื่อให้การจัดการอัตรากำลังของกระทรวงเป็นไปโดยง่าย และเป็นการแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องที่ ศธ. ประสบตลอดมา
มีรายงานว่า คำสั่ง ม.44 ฉบับนี้ เกิดขึ้นภายหลงการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดด้านการศึกษาที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่ผ่านมา โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ในฐานะรมว.ศึกษาธิการในขณะนั้น ระบุว่า
“การปรับแก้กฎเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) นั้น ที่ผ่านมา เรามีปัญหาเรื่องการบริหารงานบุคคล หากไม่มีการปรับแก้ ก็ไม่สามารถที่จะทำงานต่างๆ ได้ พร้อมทั้งยังขอใช้อำนาจหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 อีกถึง 19 คำสั่งใน 2 ปี และอาจจะต้องมีการขอใช้คำสั่งนี้เพิ่งอีก โดยที่กำลังแต่งตัวอยู่คือ การตั้งคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยุบรวม คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งหมด 5 องค์กรให้เหลือ อ.ก.พ.ศธ. เพียงคณะเดียว และขอใช้มาตรา 44 เกลี่ยอัตรากำลังตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิ ระดับ 10 ของทุกส่วนราชการมาใช้เป็นฐาน ในการกำหนดตำแหน่งผู้ตรวจราชการ ศธ. เพิ่มจำนวน 6 ตำแหน่ง รวมกับผู้ตรวจราชการ ศธ. ที่มีอยู่ 12 ตำแหน่ง เป็น 18 ตำแหน่ง เพื่อมอบหมายผู้ตรวจราชการ ศธ.ให้ปฏิบัติหน้าที่ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ซึ่งได้มีการหารือสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) แล้วไม่สามารถทำได้ เพราะกฎหมายไม่เอื้อจึงต้องใช้ ม.44”
ขอบคุณที่มาจาก MGR Online วันที่ 10 มกราคม 2560 20:37 น.