ในโอกาสที่ก้าวสู่ปีที่ 40 กับ "มติชน" ได้สัมภาษณ์นักการศึกษาผู้คร่ำหวอด และอดีตผู้บริหารด้านการศึกษาอย่าง ศ.พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) และอดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อให้พาย้อนกลับไปดูพัฒนาการศึกษาตั้งแต่ช่วงปี 2520 จนถึงปัจจุบัน ว่าการศึกษาไทยเติบโตก้าวหน้าอย่างไร หรือถอยหลังเข้าคลองอย่างที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน
40 ปีการศึกษาไทยเดินเป๋ไปเป๋มา
"ย้อนหลังกลับไป 40 ปี การศึกษาไทยตั้งแต่ปี 2521 ถึงปัจจุบัน มีรัฐมนตรีว่าการ ศธ. 34 คน เฉลี่ยอยู่ในตำแหน่งคนละ 1 ปีกว่า แค่นี้ก็เห็นชัดเจนว่าทำไมการศึกษาไทยถึงเดินเป๋ไปเป๋มา หากเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่มีพัฒนาในทางที่ดี เพราะมีความมั่นคง และชัดเจนในตัวบุคคลที่กุมบังเหียนการศึกษา โดยหลักการแล้ว ระบบการเมืองที่ดี ผู้บริหารประเทศต้องเลือกใช้คนที่เหมาะสม แต่ไทยยึดการเมืองเต็มตัว ไม่ว่ายุคสมัยไหนจะเปลี่ยนรัฐมนตรีบ่อย
40 ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ในการดูแลของพรรคการเมืองใหญ่ๆ 4 พรรค เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทยพัฒนา และไทยรักไทย (ทรท.) หรือเพื่อไทย (พท.) แต่ละยุคไม่มีความแตกต่าง เพราะเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีตลอด จากที่ได้สัมผัสการทำงานหลายระดับ ตั้งแต่ทำงานกับรัฐมนตรีโดยตรง หรือเข้าไปช่วยงานการเมือง ได้ทำงานกับพรรคการเมืองโดยตรง ทุกพรรคไม่มีนโยบายชัดเจนว่าจะขับเคลื่อนการศึกษาไปทิศทางใด รัฐมนตรีที่เข้ามาบริหาร ศธ.จะใช้ความรู้สึกของตัวเอง ใช้คำแนะนำที่ไปหยิบจากตรงโน้นตรงนี้ ที่สุดก็สร้างแนวทางของตัวเอง คิดแบบฉาบฉวยเป็นเรื่องๆ ไม่ได้แก้เชิงระบบ
ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือช่วงรัฐบาล ทรท.ผมเข้าไปทำนโยบายการศึกษา แม้แต่คนที่เห็นว่านโยบายของผมดี เมื่อได้เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ไม่ได้ทำตามเท่าที่ควร สรุปคือระบบการเมืองไม่เป็นระบบ นโยบายพรรคไม่มีใครใส่ใจจริงจัง ประกอบกับการให้ตำแหน่งรัฐมนตรีเพราะต่างตอบแทน เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้แผนพัฒนาการศึกษาชาติไม่เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็น ที่ปรากฏชัดอีกประการหนึ่ง เห็นได้จาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่จนถึงวันนี้ บางมาตรายังไม่ทำ ฉะนั้น หลายอย่างเกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเหมือนเป็นคำตอบ แต่ก็ไม่ใช่คำตอบ ไม่ว่าเป็นระบบพรรคการเมือง นโยบายพรรค หรือแม้แต่การออกเป็นกฎหมาย ก็ยังไม่ใช่คำตอบ ทำให้ปัญหาพอกหางหมู การศึกษาไทยแทนที่จะเดินขึ้น กลับเดินดิ่งลง"
การศึกษาขั้นพื้นฐานดิ่งเหว
"ภาพรวม 40 ปี การศึกษาไทยไม่พัฒนา ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทบไปทุกระดับ ไล่ตั้งแต่ปี 2520 ถึงปัจจุบัน ไทยผ่านการปฏิรูปหลักสูตรใหญ่ 2 ครั้ง ครั้งแรกปี 2521 และปรับใหญ่อีกครั้งปี 2544 ก่อนจะปรับเล็กในปี 2551 สาระที่มีปัญหาคือหลักสูตรปี 2544 มีข้อผิดพลาดหลายประการ ที่สำคัญที่สุดคือการเรียนในช่วงชั้นต้นๆ แทนที่จะสร้างเสริมทักษะในตัวเด็กให้แน่น ทั้งอ่านออกเขียนได้ หลักการค้นคว้า ตั้งคำถาม ความอยากรู้อยากเห็น กลับใส่เนื้อหา ทำให้ด้อยเรื่องพัฒนาทักษะที่จำเป็น ปัญหาชัดเจนคือทักษะการอ่านที่ปรากฏในผลการประเมินในระดับนานาชาติ วันนี้การศึกษาไทยอยู่ในสถานการณ์ที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ต้องบอกว่าการศึกษาไทยเบี้ยวตั้งแต่ออกแบบหลักสูตร
ประเด็นต่อมา ระบบการวัดผลแบบสอบไม่มีตก เกรด 1.00 ก็จบได้ สร้างผลเสีย เกิดปัญหามากมาย รวมถึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไม่ตั้งใจเรียน ไม่มีระบบซ่อมเสริมที่ได้มาตรฐาน ต่างจากสมัยก่อนที่ใช้ระบบคะแนนรวม เด็กจำแนกความสามารถของตัวเองได้ตั้งแต่มัธยมต้น หากเรียนได้ 50% จะหันไปเรียนสายอาชีวะแทน พอใช้ระบบหน่วยกิต เด็กจะมุ่งเรียนให้จบ ม.6 และเรียนต่อมหาวิทยาลัย เกิดปริญญาเฟ้อ และส่งผลให้เด็กเรียนสายอาชีพลดลง ทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในภาพรวมอ่อนลงทั้งประเทศ
อีกสาเหตุมาจากระบบการบริหารภายในของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เป็นผลมาจาก พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ที่ปรับโครงสร้างยุบ 14 กรม หรือ 14 องค์ชาย เป็น 5 องค์กรหลัก เพื่อให้ ศธ.เล็กลง แต่ สพฐ.กลับใหญ่ มีอำนาจมาก และไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง แม้พยายามกระจายอำนาจบ้างโดยถ่ายโอนโรงเรียนไปยังท้องถิ่น แต่เป็นไปภายใต้อิทธพลของการเมืองท้องถิ่น ไม่ได้สร้างความเข้มแข็งให้ระบบอย่างแท้จริง วิ่งเต้นต่อรองถ่ายโอนโรงเรียน รวมถึงไม่มีระบบประเมินว่าโรงเรียนที่ถ่ายโอนมีคุณภาพแค่ไหน โรงเรียนต้องอิสระ คล้ายระบบของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะระบบคัดเลือกผู้บริหารสถานศึกษา ที่ทำให้ผู้อำนวยการทิ้งโรงเรียนไปวิ่งเต้นเพื่อให้ได้เป็นผู้บริหารโรงเรียนขนาดใหญ่ รวมถึงระบบการคัดเลือกและโยกย้ายครู"
′อาชีวะ-อุดมศึกษา′เซเป็นทอดๆ
"อาชีวะมีปัญหาจากผลพวงของปัญหาการศึกษาขั้นพื้นฐาน สมัยก่อนคนนิยมเรียนอาชีวะค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันพัฒนาการเชิงวิชาการ และทักษะวิชาชีพของอาชีวะเองไม่พัฒนาเท่าที่ควรหากเทียบกับนานาประเทศ และเป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาไปตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขณะที่อุดมศึกษามีปัญหามากไม่แพ้กันใน 40 ปี ถึงขั้นเซเป็นทอดๆ ในหลายเรื่อง ไม่ว่าความพยายามจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษาจำนวนมาก เริ่มเปลี่ยนโรงเรียนฝึกหัดครูเป็นวิทยาลัยครู ต่อมาเปลี่ยนเป็นสถาบันราชภัฏ และมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เสริมกับอำนาจทางการเมืองที่ต้องการให้จังหวัดของตนมีมหาวิทยาลัย ทำให้เกิด มรภ.มากถึง 41 แห่ง ส่งผลให้หลักการจัดการศึกษาเปลี่ยนไป จากที่เน้นฝึกหัดครู กลายมาสอนคณะทั่วไป รวมทั้งยังเกิดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีก 9 แห่ง รวมกับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ และมหาวิทยาลัยเอกชน ทำให้เกิดปัญหาผลิตบัณฑิตเกินความต้องการ
มหาวิทยาลัยจัดการศึกษาเชิงปริมาณ มรภ.บางแห่งเตรียมเปิดสอนคณะแพทย์ศาสตร์ ขณะที่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ผลิตบัณฑิตเกินความต้องการ ส่วนหนึ่งเพราะผู้บริหารคณะครุศาสตร์ฯ ไม่เห็นแก่ประเทศชาติ ผลิตโดยไม่ได้คุมกำเนิดเชิงปริมาณ ปีที่ผ่านมามีบัณฑิตจบมากถึง 60,000 คน แต่บรรจุได้ปีละ 10,000 คน เท่ากับทำลายวิชาชีพของตนเอง วันนี้ชัดเจนว่าวิชาชีพครูอ่อนแอมาก กลายเป็นความเสียหายของประเทศชาติ ซึ่งทุกอย่างวนกลับไปที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน หากระบบผลิตครูอ่อนแอ ไม่มีคุณภาพ ก็ไม่สามารถสอนเด็กให้มีคุณภาพได้"
ยกเครื่องผลิตครู-จัดกลุ่มมหาวิทยาลัย
"วันนี้หากจะแก้ปัญหา ต้องโฟกัสที่การศึกษาขั้นพื้นฐานมากๆ เพราะมีปัญหาตั้งแต่ระบบผลิตครูที่ให้เรียนตามวิชาเอก ทั้งที่การศึกษาขั้นพื้นฐานต้องการครูที่สอนได้ทุกวิชา ยกเว้นระดับมัธยมปลาย ที่ต้องการครูที่เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา หากการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้มแข็ง ระดับอาชีวะและอุดมศึกษาจะเข้มแข็งตามไปด้วย
ถามว่าจะแก้อย่างไร ต้องตัดสินใจเชิงระบบหลายๆ เรื่อง มหาวิทยาลัยไทยอาจต้องปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ เช่น จัดกลุ่มมหาวิทยาลัย แม้จำนวนไม่ลดลง ปัจจุบันระบบการดูแลควบคุมลดลง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยรัฐที่เปิดสาขาเพิ่ม และรับนักศึกษามาก มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ อาศัยชื่อเสียงเป็นตัวล่อ ทำให้มหาวิทยาลัยเล็กๆ ไม่มีคนเรียน และต้องหาวิธีให้อยู่รอด ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องดี สร้างความเสียหาย ผลิตบัณฑิตออกมาตกงาน ไม่ตรงตามความต้องการ"
ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
"ระบบคัดเลือกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สร้างความเสียหายมาก อย่างระบบเอ็นทรานซ์เหมาะสมกับยุคสมัยก่อน เพราะมหาวิทยาลัยมีไม่มาก แต่วันนี้สถานการณ์เปลี่ยน เงื่อนไขสังคมก็เปลี่ยน ระบบเอ็นทรานซ์ไม่ตอบโจทย์ เมื่อเปลี่ยนมาใช้ระบบแอดมิสชั่นส์กลาง แต่มหาวิทยาลัยก็มีข้ออ้างรับตรง ทำให้เกิดปัญหาวิ่งรอกสอบ และความเหลื่อมล้ำ มหาวิทยาลัยต้องคิดถึงประเทศชาติ และความรับผิดชอบต่อสังคม สร้างระบบให้เป็นธรรม ไม่ใช่คิดถึงแต่ตัวเอง ส่วนระบบใหม่ที่จะเริ่มใช้ปี 2561 เป็นระบบที่ดี
แต่คิดว่ามหาวิทยาลัยต้องสร้างข้อแม้ให้ตัวเอง พยายามดิ้นรนให้ระบบบิดเบี้ยวอีก"
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 09 ม.ค. 2560 เวลา 20:22:16 น.