ในโอกาสที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่ ซึ่งท่านมีหัวใจเป็นนักพัฒนาการศึกษา จึงถือโอกาสแสดงความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเสนอเป็นทางเลือกที่แตกต่างไปจากวิธีเดิมๆ 2-3 เรื่องด้วยกัน
การศึกษาเป็นหัวใจสำคัญของชีวิต ชีวิตจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับการศึกษา การศึกษาเปลี่ยนแปลงชีวิตได้ เปลี่ยนจากความโง่เขลาไปสู่ความเฉลียวฉลาด การศึกษาสอนให้คนเอาตัวรอด การศึกษาทำให้คนได้เรียนรู้ความรับผิดชอบชั่วดี รู้จักบาปบุญคุณโทษ เปลี่ยนจากสิ่งที่ชั่วไปเป็นความดีมีคุณธรรม เปลี่ยนจากความจนไปสู่ความมีฐานะที่ดีขึ้น การศึกษาเปลี่ยนคนจากความดิบถ่อยเถื่อนไปสู่ความมีวัฒนธรรม มีคุณภาพชีวิตที่ดี
การศึกษาไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว การศึกษาอยู่กับชีวิตขึ้นอยู่กับสังคมนั้นๆ สังคมเป็นอย่างไรการศึกษาก็เป็นอย่างนั้น การศึกษาเป็นอย่างไรสังคมก็เป็นอย่างนั้น เพราะการศึกษาเป็นหุ้นส่วนของชีวิตและชีวิตขึ้นอยู่กับสังคม การศึกษาจึงเป็นตัวสะท้อนความเป็นไปของสังคม เด็กที่เกิดมาทุกคนบริสุทธิ์แต่เมื่อเด็กโตขึ้นเปลี่ยนแปลงไปตามสังคมและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบๆ ตัวเด็ก เด็กจึงเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม
ทำไมคนไทยจึงอยู่อย่างอนาถ มีชีวิตอยู่อย่างน่าสังเวช เพราะการศึกษาไทยสร้างคนให้เป็นขอทาน เด็กไทยรอคอยการแจก ทำให้คนไทยชอบของฟรี รัฐมีโครงการแจกของมากมาย แจกหนังสือ แจกคอมพิวเตอร์ แจกเสื้อผ้า แจกอาหาร แจกนม แจกชุดนักเรียน ฯลฯ ทั้งรัฐและเอกชนมีโครงการให้ทาน คือ แจกของให้แก่ผู้ยากไร้ รัฐมีโครงการต่างๆ แจกให้แก่โรงเรียน แม้จะดูดีแต่ได้ปลูกฝังสิ่งที่เลวร้ายไว้กับชีวิตเด็กและสังคมอย่างหยั่งรากลึกซึ้งยาวนาน
เด็กไทยจึงไม่เรียนรู้ว่าจะต้องทำอะไร รอคอยของแจก ทุกคนก็ถูกปลูกฝังให้งอมืองอเท้า รัฐปลูกฝังให้เด็กไทยขี้เกียจ ไม่ขยัน ไม่ต่อสู้ และไม่พยายาม
ยิ่งฝ่ายรัฐซึ่งเป็นผู้ปกครอง ใช้การแจกเป็นนโยบายหลักเพื่อเอาใจประชาชน การแจกสิ่งของ แจกเงิน รวมทั้งแจกวันหยุด จนประเทศไทยเป็นประเทศที่มีวันหยุดในลำดับต้นๆ ของโลก (20 วัน) วันหยุดอย่างเดียวไม่พอ ยังต้องมีวันชดเชยวันหยุดเพิ่มขึ้น (3 วัน)
รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลกลัวคนไม่รัก พยายามทำตัวให้น่ารักโดยมอบของขวัญวันหยุดให้ประชาชน หากจะใช้ข้ออ้างเพื่อมีวันหยุดเพิ่มก็ยังทำได้ เพราะเมืองไทยเป็นเมืองพุทธก็ควรจะหยุดวันพระด้วย (8 ค่ำ และ 15 ค่ำ) เพื่อให้ชาวพุทธไปทำบุญไหว้พระฟังสวด ถ้าทำได้ประเทศไทยก็จะมีวันหยุดเพิ่มขึ้นมากที่สุดในโลก ถือว่าติดลำดับโลก สำหรับประเทศในยุโรปมีวันหยุดประจำปี 9-13 วัน
แต่สิ่งที่แถมให้กับเด็กโดยไม่รู้ตัวก็คือ เด็กไปโรงเรียนน้อยวัน แต่ละวันเด็กเรียนรู้น้อย เด็กไทยจึงไม่ได้รับการศึกษาเต็มกำลังในช่วงวัยเรียน เด็กไทยจึงเรียนจบออกไปโดยอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เด็กรับรู้ว่าวันหยุดเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทำให้เด็กเติบโตขึ้นมาเป็นคนขี้เกียจ เป็นคนไม่ขยัน เอาเปรียบคนอื่น ชอบเรียกร้องสิทธิในความเป็นไทย อยากได้ อยากมี อยากเป็น และชอบของฟรี
ข้อเสนอแรก ให้เอกชนร่วมพัฒนาการศึกษา จากข้อมูลที่น่าสนใจคือ ไทยมีโรงเรียนจำนวนมาก มากกว่าจำนวนเด็กที่มี ไทยมีโรงเรียนที่ร้างพอๆ กับวัดร้าง รัฐมีนโยบายให้ยุบโรงเรียนร้าง ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มหาวิทยาลัยก็ไม่มีคุณภาพ มหาวิทยาลัยเอกชนต้องยุบเพื่อเอาที่ดินไปสร้างที่พักอาศัย ซึ่งได้กำไรมากกว่าการสร้างมหาวิทยาลัย แม้เด็กไทยจะเกิดน้อยลงแต่การศึกษาไทยก็ไม่ดีขึ้น ยังพัฒนาต่อไปอย่างด้อยคุณภาพ เด็กไปโรงเรียนแล้วโง่มากขึ้น จนมากขึ้น และมีความชั่วติดตัวมากขึ้นด้วย
รัฐน่าจะทดลองปฏิรูปการศึกษาวิธีใหม่ โดยรัฐขอให้บริษัทเอกชนใหญ่ๆ หรือบริษัทที่ตั้งใจจะช่วยพัฒนาการศึกษาชาติ โดยรัฐมอบโรงเรียนร้างหรือโรงเรียนที่รัฐจัดการไม่ได้ให้เอกชนไปร่วมจัดการ เป็นวิธีที่เอกชนช่วยจัดการศึกษาให้รัฐ ประโยชน์ของเอกชนก็คือนำค่าใช้จ่ายไปลดภาษีได้ เอกชนก็ให้ฝ่ายบุคคลรับผู้ที่ประสงค์จะเป็นครูหรือเป็นฝ่ายจัดการโรงเรียน โดยที่บุคลากรของบริษัทรับเงินเดือนจากบริษัทแล้วให้ไปทำงานสอนเด็กที่โรงเรียน อาทิ โรงเรียนไทยรัฐ โรงเรียนซีพี โรงเรียนช้าง โรงเรียนสิงห์ โรงเรียนธนาคาร โรงเรียนโนเกีย โรงเรียนไฟฟ้า โรงเรียนอิตาเลียนไทย โรงเรียนซิเมนต์ โรงเรียนไอโฟน เป็นต้น
โรงเรียนเหล่านี้ก็จะสร้างคนให้มีความรู้มีความสามารถ แต่ละบริษัทก็จะแข่งขันกันทำความดี เด็กไทยก็จะได้ประโยชน์ รัฐควรจะยกย่องบริษัทโดยมอบเหรียญตราเชิดชูผู้ทำความดี บริษัทรับไป 1 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนร้างและชุมชนทั้งหลายก็จะมีชีวิตชีวาขึ้นทันที
อย่ากลัวว่าบริษัทต่างๆ จะจัดการศึกษาเพื่อป้อนคนเข้าไปทำงานในบริษัท ซึ่งถ้าเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่ดีเสียอีก เพราะเด็กจะได้มีงานทำ เป็นคนที่มีการศึกษา มีฝีมือทำงานได้ และสร้างรายได้โดยไม่เป็นภาระต่อสังคม
ลำพังที่รัฐจัดการศึกษาในโรงเรียนปัจจุบัน ทุกคนก็มองว่าการศึกษาไทยเน่าอยู่แล้ว ในไม่ช้าไทยก็จะมีชุมชนที่มีอาชีพ อาทิ ชุมชนไทยรัฐ ชุมชนซีพี ชุมชนช้าง ชุมชนสิงห์ ชุมชนธนาคาร ชุมชนโนเกีย ชุมชนไฟฟ้า ชุมชนช่างก่อสร้าง ชุมชนซิเมนต์ ชุมชนไอโฟน เป็นต้น
ข้อที่สอง ลดเสมียนในกระทรวง ให้โอกาสแก่ข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่มีอยู่ 6-7 พันคน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่มีงานทำ เป็นข้าราชการชั้นพิเศษทำหน้าที่เดินเอกสาร ซึ่งมียศสูง ตำแหน่งสูง การศึกษาสูง เงินเดือนสูง มีความมั่นคงสูง ควรเปิดโอกาสให้ย้ายตัวเองไปอยู่ในโรงเรียนที่บ้านเกิด ได้ทำงานที่เต็มศักยภาพ โดยให้โอนตำแหน่ง เงินเดือน ยศถาบรรดาศักดิ์ สวัสดิการ และโอนความมั่นคงไปด้วย เพราะคนชั้นสูงเหล่านั้นจะได้ใช้ศักยภาพในการเป็นครูได้เต็มที่ สามารถที่จะพัฒนาชุมชนได้ในพริบตา
โดยสภาพจริงของครูที่อยู่ในโรงเรียนชนบทในปัจจุบัน เป็นครูที่มีความรู้น้อย ปริญญาต่ำ เงินเดือนน้อย ไม่มีความมั่นคง ตำแหน่งต่ำ สวัสดิการไม่มี ครูเหล่านี้เป็นผู้รับผิดชอบจัดการศึกษาชาติโดยตรง ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ไม่มีใครแยแส แล้วก็บ่นกันว่าการศึกษาตกต่ำ การศึกษาเน่า
รัฐมนตรีควรดำเนินการในปีแรกโดยให้โอกาสข้าราชการในกระทรวงย้ายตัวเอง ปีที่สองรัฐมนตรีควรมีคำสั่งย้ายข้าราชการชั้นสูงไปทำงานเป็นครูในชนบท ส่วนปีที่สามก็ควรให้ข้าราชการชั้นสูงที่ไม่ไปให้ออกจากงาน เพื่อจะเอาเงินเดือนและตำแหน่งไปรับครูคนใหม่สอนเด็กในชนบทแทน
ข้อที่สาม ปล่อยมหาวิทยาลัยเป็นอิสระ การปรับกระทรวงอุดมศึกษา ซึ่งเคยแยกเป็นทบวงมหาวิทยาลัยมาก่อนแล้ว ยุบกลับไปอยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ทั้ง 3 วิธีก็ไม่สำเร็จ (อยู่ในกระทรวง แยกเป็นทบวง และยุบรวมเป็นกระทรวง) คราวนี้น่าจะให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายเป็นเอกเทศบริหารจัดการเอง โดยมีนายกสภามหาวิทยาลัยและฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยรับผิดชอบดำเนินการเอง รัฐมีนโยบายและให้งบประมาณเท่าที่จะให้ได้โดยตรง มหาวิทยาลัยก็จะมีอิสระทั้งทางวิชาการและบริหารจัดการตนเอง มหาวิทยาลัยสามารถที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกันเอง แบบใครดีใครอยู่ ใครไม่ดีก็อยู่ไม่ได้อยู่แล้ว
เชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้มหาวิทยาลัยทั้งหลายเปลี่ยนแปลงและพัฒนา มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งก็จะพัฒนาแตกต่างกันไป ใครอยากเรียนที่ไหนก็ไปที่นั่น ระบบการบริหารของแต่ละแห่งไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ค่าเล่าเรียนก็ไม่เหมือนกัน เปิดเทอมปิดเทอมก็ไม่เหมือนกัน รัฐให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ มหาวิทยาลัยสามารถที่จะพัฒนาเอกลักษณ์ตนได้ตามศักยภาพและผลผลิต ซึ่งจะทำให้มหาวิทยาลัยเข้มแข็งขึ้น
มหาวิทยาลัยก็จะเป็นที่อยู่ของคนเก่งและคนที่มีความสามารถ ซึ่งคนที่ไม่เก่ง คนที่ไม่มีความสามารถ และคนขี้เกียจ ก็จะอยู่ยาก เพราะนักศึกษาก็จะไปหาอาจารย์ที่เก่ง ไปหาสาขาวิชาที่เก่ง ไปหามหาวิทยาลัยที่เก่ง นักศึกษาทุกคนมีสิทธิที่จะเลือกได้ มหาวิทยาลัยจะจัดการกันเอง รัฐไม่ต้องไปดูแลมหาวิทยาลัยอย่างโรงเรียนอนุบาล มหาวิทยาลัยก็ไม่ควรเป็นภาระของรัฐ รัฐให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบราชการ ก็ควรเปิดโอกาสให้มหาวิทยาลัยได้เติบโตและช่วยตัวเองให้ได้
ซึ่งในระยะแรกๆ มหาวิทยาลัยก็อาจจะมีผู้บริหารที่ไม่สง่างาม มีพวกมาเฟียในระบบการศึกษา ซึ่งต้องใช้เวลา ระบบมหาวิทยาลัยก็จะจัดการจนคนที่เกเรให้อยู่ไม่ได้ เพราะโดยพื้นฐานมหาวิทยาลัยเป็นที่อยู่ของนักปราชญ์ ไม่ใช่อยู่ในนรกซึ่งเป็นที่อยู่ของพวกเปรต แม้มหาวิทยาลัยจะมีเปรตอยู่บ้าง ก็เป็นเพียงเปรตในหมู่ปราชญ์ สังคมส่วนใหญ่ยังมีปราชญ์ควบคุมเปรตอยู่
หากมหาวิทยาลัยใดก็ตาม ที่มีเปรตเป็นส่วนใหญ่ สังคมก็จะลงโทษพวกเปรตเอง เพราะมหาวิทยาลัยเป็นหุ้นส่วนของสังคมซึ่งเป็นสาธารณะ มีคนทั้งประเทศจับตามองอยู่ นักศึกษาเป็นตัวตัดสินว่าเขาจะไปเรียนที่มหาวิทยาลัยใด
การศึกษาทุกระดับตั้งแต่เล็กจนโต สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น การศึกษาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต เมื่อสังคมจัดการศึกษาที่ไร้คุณภาพ การศึกษาที่มีประสิทธิภาพต่ำ ก็จะสะท้อนออกมาสู่ชีวิตคนในสังคมที่ไม่มีคุณภาพ ดูตัวอย่างคนในสังคมไทย สามารถตายช่วงปีใหม่ ช่วงสงกรานต์ได้อย่างไร้เหตุผล ตายเหมือนกับสงครามกลางเมือง ตายจากสาเหตุที่คนอื่นทำให้ตาย ตายเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ชีวิตตั้งอยู่บนความเสี่ยงโดยที่เจ้าของชีวิตไม่สามารถจะรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ สังคมอยู่อย่างหวาดระแวง ไว้ใจใครในสังคมไม่ได้
บ้านเศรษฐีมีรั้วสูง บนรั้วมีเศษแก้วและลวดหนาม เจ้าของบ้านไม่ไว้ใจใครในสังคม รั้วสูงเพราะจิตใจต่ำ ในขณะที่บ้านของสังคมเจริญไม่มีรั้วหรือรั้วต่ำ เพราะจิตใจของคนในสังคมสูง
การศึกษาไทยไม่ได้ช่วยให้คนไทยมีความรับผิดชอบในหน้าที่หรือรับผิดชอบต่อสังคม สังคมไทยทำให้คนเห็นแก่ตัวมากขึ้น เพราะทุกคนต่างต้องเอาตัวรอด การศึกษาไม่ได้ช่วยให้คนนับถือคนอื่น ให้เกียรติคนอื่น แต่สังคมสอนให้เอาเปรียบคนอื่น ยิ่งมือใครยาวสาวได้สาวเอา เมื่อทุกคนรู้ว่าการศึกษาของไทยเน่าก็เป็นเครื่องบอกว่าสังคมไทยก็เน่าเหมือนกับการศึกษา เพราะตัวการศึกษาเป็นภาพสะท้อนของสังคม
หากท่านรัฐมนตรีอยากให้ประเทศไทยเจริญ ขอให้รัฐมุ่งมั่นพัฒนาการศึกษาเท่านั้น คนไทยก็จะเจริญ สังคมไทยก็เจริญตามไปด้วย
สุกรี เจริญสุข