ภตช.จี้ ศธ.เพิ่มโทษนักศึกษารับจ้างเข้าสอบช่วยทำทุจริต ด้าน "ปนัดดา" เตรียมขยายผลปลูกฝังความชื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมืองในเด็กไทย
วันนี้ ( 9 ม.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ เลขาธิการภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) เปิดเผยว่า จากกรณีพบทุจริตการการสอบข้อเขียนเพื่อบรรจุบุคคลเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ ประจำปี 2559 โดยมีการจ้างนักศึกษาระดับหัวกะทิของประเทศ มาจากสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำหลายแห่ง เข้าร่วมสอบกับผู้ที่ต้องการสอบเข้านายสิบตำรวจ เพื่อส่งสัญญาณคำตอบให้ลูกค้า หรือ ผู้ต้องการสอบเข้าด้วยวิธีทุจริต โดยได้รับค่าจ้างอัตรา 20,000-30,000 บาท นั้น ภตช.ได้ยื่นหนังสือถึง นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ขอให้ดำเนินการดังนี้ 1.ขอให้ตรวจสอบและดำเนินการลงโทษสถานหนักกับนักศึกษาที่เป็นมือปืนรับจ้างเข้าสอบดังกล่าว 2. ขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) แก้ไขระเบียบ ศธ. ว่าด้วย การลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ให้มีโทษสถานหนักขึ้น ในกรณีที่นักศึกษาไปกระทำการทุจริต ทำให้สถาบันการศึกษาเสียชื่อเสียง เสียหายต่อวิชาชีพ อาทิ แพทยศาสตร์,วิศวกรรมศาสตร์,ทันตแพทยศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ และ 3.ขอให้ตั้งกรรมการสอบและลงโทษ กับ หัวหน้าภาควิชา คณบดี อธิการบดี ที่มีนักศึกษาในคณะดังกล่าวรับจ้างกระทำการทุจริตการสอบ เพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างของการปล่อยปะละเลย ไม่ดูแลนักศึกษาของตนเองให้อยู่ในความสุจริต
ด้าน ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า พฤติกรรมของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวเป็นการใช้ความเก่ง ความรู้ ความสามารถ ที่มีไปในในทางที่ผิด ซึ่เหตุการณ์ลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ที่ผ่านมาก็พบการทุจริตในลักษณะการให้คนเก่งเข้าสอบแทน ส่งสัญญาณบอกคำตอบทางทางเครื่องมืออุปกรณ์ไอทีที่ทันสมัย ซึ่งไม่ไม่ควรเกิดขึ้นอีก ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ศธ.จะเร่งขยายผลและปลูกฝังเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมือง ให้แก่เด็กและเยาวชน โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะครู อาจารย์ ต้องช่วยกันปลูกฝัง ทำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
"ผมจะหารือกับ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. และ ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. ว่าจะทำอย่างไรให้การเรียนการสอนเรื่องนี้มีรูปแบบที่ชัดเจนและเป็นการสอนที่สนุกสนาน เด็กที่เรียนเก่งถ้ารู้จักนำความเก่งไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรก็จะเกิดประโยชน์ได้วงกว้าง แต่ถ้าไปทำผิดๆ เช่น รับจ้างช่วยคนโกงสอบแบบนั้น ก็จะมีผู้ตั้งคำถามว่าจบมาจากที่ไหน กลายเป็นว่าเสียหายกันไปทั้งระบบ ดังนั้น เราต้องสอนให้ทุกคนตระหนักถึงเรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต สร้างชาติ และหน้าที่พลเมือง ซึ่งเรื่องเหล่านี้มีการเรียนการสอนในวิชาสังคมศึกษาอยู่แล้ว แต่ต้องให้ทุกคนตระหนักมากขึ้น ทำให้เรื่องเหล่านี้โดดเด่นชัดเจน และสง่างาม โดยรูปแบบการสอนควรทำให้เด็กรู้สึกสนุกสนาน ไม่ใช่เน้นวิชาการเกินไป ” รมช. ศธ.กล่าว.
ขณะที่ ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวว่า กรณีนี้จะต้องมีการดำเนินการ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก ดำเนินการตามกฎหมายบ้านเมือง และ ส่วนที่ 2 ดำเนินการตามระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ ซึ่งมีการกำหนดบทลงโทษ 4 ระดับคือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ตัดคะแนนความประพฤติ และปรับพฤติกรรม อย่างไรก็ตาม ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการลงโทษนักเรียนฯ นั้นจะล้อตามออกพ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดว่าการลงโทษเด็ก ทำได้อย่างไรมากน้อยแค่ไหน แต่จะไม่มีการลงโทษด้วยการไล่ออก ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลพฤติกรรมเด็กของสถานศึกษานั้น หากพบว่ามีการกระทำผิดและมีการพิจารณาลงโทษก็ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากตักเตือน เพราะในบางกรณีหากพบว่ามีกระทำผิดชัดเจนก็อาจจะลงโทษในขั้นสุดท้าย คือ ปรับพฤติกรรมได้ เป็นต้น.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 9 มกราคม 2560