ชง ครม.ไฟเขียวตั้งงบฯ 61
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยความคืบหน้าการปรับปรุงแนวทางการอุดหนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนเอกชน ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 22 ก.ค.2557 ที่ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กำหนดแนวทางการอุดหนุนของรัฐในการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนในระยะยาวให้มีความเหมาะสมและยั่งยืน โดยไม่เป็นภาระด้านงบประมาณเกินควรว่า โครงสร้างเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนโรงเรียนเอกชน แบ่งเป็น 3 ส่วนคือ เงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายพื้นฐาน เงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนครู และเงินอุดหนุนเพิ่ม 10% จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เห็นว่าควรมีการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนในส่วนของเงินสมทบเงินเดือนครู ซึ่งปัจจุบันระดับอนุบาลและประถมศึกษา ได้รับอยู่ที่ 6,864.50 บาท ม.ต้น-ม.ปลาย 8,582.50 บาทต่อคนต่อปี เมื่อคำนวณตามสูตร สช.แล้วครูจะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ 14,300 บาทต่อเดือน ซึ่งไม่เพียงพอกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะเงินเดือนเฉลี่ยที่โรงเรียนต้องจ่ายครูคือ 17,300 บาท ดังนั้น จะมีการเสนอปรับเงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนให้ครูโรงเรียนเอกชนเป็นปัจจุบันตามที่โรงเรียนจ่ายครูจริง เบื้องต้นคาดว่าจะเพิ่มเติมประมาณ 3,000 บาทต่อคนต่อปี
ปลัด ศธ. กล่าวอีกว่า นอกจากนี้เห็นว่าขณะนี้มีโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กที่ประสบภาวะวิกฤติและมีแนวโน้มว่าอาจจะถึงขั้นต้องปิดสถานศึกษา จึง มอบหมายให้ สช.ไปพิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการช่วยเหลือโรงเรียนเอกชนขนาดเล็ก โดยจัดสรรเงินอุดหนุนเพิ่มเติมพิเศษ หรือเงินท็อปอัพ ในอัตราเดียวกับโรงเรียนขนาดเล็กของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งที่ผ่านมาโรงเรียนเอกชนขนาดเล็กเคยได้รับเงินท็อปอัพจากรัฐเมื่อปี 2550-2552 แต่เมื่อสิ้นสุดมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ไม่ได้รับเงินดังกล่าวอีก อย่างไรก็ตามได้มอบหมายให้ สช.ไปจัดทำคำของบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2561 ในขณะเดียวกันก็จะทำหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการให้นำเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.เพื่อสร้างความมั่นใจ ทั้งนี้ เงินท็อปอัพดังกล่าวจะมีการกำหนดให้ชัดเจนว่าสามารถจะนำไปใช้จ่ายอะไรได้บ้าง โดยจะต้องเป็นไปเพื่อการเรียนการสอนเท่านั้น.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยรัฐ 9 ม.ค. 2560