Advertisement
ชวนเที่ยว & ชอป หมู่บ้านโอทอปคุณภาพ ที่ อีสานใต้ |
|
คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับนักเดินทางที่เมื่อได้ออกท่องเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวใดๆ ก็ตาม นอกจากจะได้สนุกสนาน เพลิดเพลินกับความสวยงามตามแหล่งท่องเที่ยวนั้นๆ แล้ว การที่ได้ซื้อของฝาก ของที่ระลึก ก็ถือว่าเป็นอีกหนึ่งสิ่งก่อให้เกิดความสุขจากการท่องเที่ยว และยังเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทางหนึ่ง ด้วยการอุดหนุนสินค้าโอทอป (OTOP) หรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ที่ถือว่าเป็นสินค้าอันมีเอกลักษณ์แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
ชำนาญ ม่วงทิม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว กล่าวว่า การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยกองส่งเสริมการบริการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวได้นำเอาโครงการ OTOP Village Champion (OVC) ที่เป็นการคัดเลือกหมู่บ้านที่ผลิตสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพจำนวนกว่า 80 หมู่บ้านจากทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย มาผลักดันสินค้า OTOP ให้พัฒนากลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ที่น่าสนใจ ซึ่งทางททท. ได้นำโครงการ OVC มาต่อยอดแบบบูรณาการ จัดทำเป็น "เส้นทางท่องเที่ยว OTOP Village Champion" ขึ้น เพื่อเป็นการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวทั่วไปเข้ากับหมู่บ้าน OVC OTOP ที่เป็นการคัดเลือกหมู่บ้านโอทอปคุณภาพในระดับหัวกะทิของเมืองไทยมาไว้ในโครงการ
"เราเอาสินค้าโอทอปของแต่ละหมู่บ้านมาเป็นจุดขาย มาเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตชุมชน เชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ มาเป็นองค์ประกอบอีกอันหนึ่งของการท่องเที่ยว และทำการเผยแพร่เส้นทางท่องเที่ยวใหม่นี้ให้แก่นักท่องเที่ยวได้รับรู้ อยากจะให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาถึงท้องถิ่นเพื่อมาดูถึงวิธีการทำ และยิ่งถ้าได้ซื้อของจากในท้องถิ่นจะรู้สึกภาคภูมิใจมากกว่าไปซื้อในห้าง" ชำนาญ ม่วงทิม กล่าว
|
กระดิ่งทองเหลืองสวยๆ จากหมู่บ้านหัตถกรรมทองเหลืองบ้านปะอาว |
ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเสื่อกกอันสวยงาม ของบ้านนาหมอม้า
สำหรับ "เส้นทางท่องเที่ยว OTOP Village Champion" ที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นเส้นทางท่องเที่ยวหมู่บ้าน OVC 4 จังหวัดทางภาคอีสานใต้ โดยเริ่มต้นเส้นทางกันที่ จ. อุบลราชธานี ไปเที่ยว "หมู่บ้านหัตถกรรมทองเหลือง บ้านปะอาว" ที่ถือว่าเป็นชุมชนแห่งเดียวในประเทศไทยที่ยังคงวิธีการทำเครื่องทองเหลืองหรือสำริดด้วยวิธีการหล่อแบบโบราณอยู่ คือ หล่อแบบขี้ผึ้งหาย ที่ยังคงลวดลายที่ประดิษฐ์มาแต่โบราณ นักท่องเที่ยวมาแล้วสามารถชมกระบวนการผลิตได้ทุกขั้นตอน และเลือกซื้อเครื่องทองเหลืองสวยๆ อาทิ กระดิ่ง เชี่ยนหมาก พวงกุญแจ ฯลฯ
และนอกจากเครื่องทองเหลืองแล้ว ที่นี่ยังมีผ้าไหมพื้นเรียบ ผ้ากาบบัว เสื้อสำเร็จรูปผ้ากาบบัว ซึ่งผ้าไหมเหล่านี้ได้มาจากการที่ชาวบ้านปลูกม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมด้วยภูมิปัญญาและฝีมือของชาวบ้าน จนได้ผ้าไหมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวอุบลฯ ที่มีความสวยงามชวนซื้อ อีกทั้งในหมู่บ้านยังมีพิพิธภัณฑ์พื้นบ้านที่เก็บสิ่งของเครื่องใช้ของโบราณตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบันให้ชมกัน มีศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์บ้านปะอาวให้ได้เลือกซื้อหาของฝากกันอย่างจุใจ และมีโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยวอีกด้วย
หมอนขิดหลากหลายรูปแบบมีให้เลือกซื้อหาที่ บ้านศรีฐาน
ออกจากบ้านปะอาว เดินทางไปกันที่ "หมู่บ้านหัตถกรรมเสื่อกก บ้านนาหมอม้า" จ. อำนาจเจริญ เมื่อเข้ามาถึงยังหมู่บ้าน จะได้เห็นภาพชาวบ้านที่มีมิตรไมตรีส่งยิ้มทักทายและนั่งทอเสื่อกกกันอยู่แทบจะทุกครัวเรือน เสื่อกกของที่นี่มีความสวยงามทั้งสีสันและลวดลายอันหลากหลาย และเปี่ยมไปด้วยคุณภาพในการใช้งาน และยังมีเสื่อกกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นที่ชวนซื้ออีก อาทิ กระเป๋าสะพาย กล่องใส่กระดาษทิชชู่ ที่รองแก้ว ฯลฯ
นอกจากเสื่อกกสวยๆ น่าใช้เหล่านี้แล้ว ที่นี่ยังมีบริการนวดแผนไทย และบ้านพักโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวพักผ่อนสัมผัสวิถีชีวิตของชาวบ้าน และสนุกสนานไปกับวงดนตรีโปงลาง รำวงอันเก่าแก่ ที่ชาวบ้านนาหมอม้าได้ร่วมกันอนุรักษ์ไว้
มาสุรินทร์อย่าลืมแวะบ้านท่าสว่างซื้อผ้าไหมสวยๆ กลับบ้าน |
และจากจ.อำนาจเจริญ มุ่งหน้าไปที่ จ.ยโสธร กันต่อ เพื่อไปยัง "หมู่บ้านหัตถกรรมหมอนขิด บ้านศรีฐาน" ที่นี่มีสินค้าโอทอป"หมอนขิด"อันลือชื่อ ซึ่งการทำหมอนขิดนี้ ถือว่าเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมเอกลักษณ์อันโดดเด่น และแสดงถึงภูมิปัญญาของชาวศรีฐานที่ถ่ายทอดกันมาจากบรรพบุรุษ โดยชาวศรีฐานนั้นมีความผูกพันกับผ้าทอลายขิด อันเป็นผ้าทอพื้นเมืองของภาคอีสาน ที่มีเทคนิคการทอที่ซับซ้อนยุ่งยากกว่าการทอผ้าธรรมดา และมีลวดลายอันสวยงาม ซึ่งชาวศรีฐานได้มีการนำผ้าทอลายขิดมาใช้ประโยชน์สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่มีความผูกพันกับหมอนรูปทรงสามเหลี่ยมคล้ายขวาน ใช้สำหรับหนุนนอน และถวายพระเป็นการทำบุญ ฉะนั้นจึงได้มีการนำผ้าทอลายขิด มาใช้เป็นลวดลายในการทำหมอน และตัดเย็บจนกลายมาเป็นหมอนขิดสินค้าที่มีเอกลักษณ์ที่ชาวบ้านศรีฐานภาคภูมิใจ
และทุกวันนี้ชาวศรีฐานได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผ้าขิดให้เป็นสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับประโยชน์ใช้สอยตามที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หมอนสามเหลี่ยมติดที่นั่ง 1-3 พับ เบาะรองนั่ง หมอนหนุน ที่นอนพับ หมอนกระดูก ฯลฯ เรียกว่าหากนั่งนักเที่ยวเดินทางมายังหมู่บ้านศรีฐานเป็นต้องอดใจไว้ไม่อยู่ ได้หอบหมอนสวยๆ กลับบ้านไปใช้กันอย่างแน่นอน
สุดท้ายเดินทางมากันที่ จ.สุรินทร์ ซึ่งจังหวัดนี้ มีหมู่บ้าน OVC ให้เลือกเที่ยวถึง 2 หมู่บ้านด้วยกัน หมู่บ้านแรกคือ“หมู่บ้านหัตถกรรมผ้าไหม บ้านท่าสว่าง” มีชื่อเสียงในเรื่องของการทอผ้าไหมลายยกทองโบราณที่โด่งดังไปทั่วโลก มีกลุ่มทอผ้าไหมจันทร์โสมา ซึ่งมีอ. วีระธรรม ตระกูลเงินไทย เป็นผู้คิดค้นวิธีการทอผ้าแบบยกทองโบราณขึ้นมา โดยประยุกต์ด้านจิตรกรรมไหมไทย การใช้สีธรรมชาติ ออกแบบลวดลายบนผ้าไหมได้อย่างวิจิตรงดงาม ซึ่งผ้าไหมของที่นี่เคยทอให้กับผู้นำและภรรยาเมื่อครั้งมีการประชุมเอเปคในประเทศไทย และในวโรกาสที่ในหลวงครองราชย์ครบ 60 ปี ก็ได้ทอผ้าไหมยกทอง ถวายแด่พระราชอาคันตุกะและพระบรมวงศ์ษานุวงศ์
|
นักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่บ้านท่าสว่าง จะได้ชมกระบวนการทอผ้าไหมที่โรงทอผ้าไหมลายยกทองโบราณ ที่ใช้แรงงานคนทอด้วยมือล้วนๆ จนออกมาเป็นผ้าไหมผืนสวย และมีเรือนไทยศูนย์จำหน่ายแสดงผลิตภัณฑ์ผ้าไหมของกลุ่มสตรี รวมไปถึงมีร้านค้าของชาวบ้านที่มีผ้าไหมสีสันสวยสด และงดงามด้วยลายทอให้ได้เลือกซื้อกันมากมาย
การแสดงความสามารถของช้างน้อยแสนรู้ที่ หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง
หลังจากที่เลือกซื้อผ้าไหมสวยๆ กันแล้ว เดินทางมาปิดท้ายกันที่ "หมู่บ้านช้าง บ้านตากลาง" หมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีศูนย์คชศึกษา ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความผูกพันกับช้างที่พวกเขาได้เลี้ยงและทำการฝึกไว้
ภายในศูนย์ฯ มีการแสดงความสามารถของช้างแสนรู้ให้ชมฟรีทุกวัน วันละ 2 รอบ 10.00 น. และ 14.00 น. มีช้างหลายเชือกออกมาวาดลวยลายยกขาสวัสดี หมุนห่วงโชว์ วาดรูปโชว์ และความสามารถน่ารักอื่นๆ อีกมากมาย ที่เรียกเสียงปรบมือและรอยยิ้มจากผู้ชมจำนวนมาก และมีผลิตภัณฑ์จัดแสดงเรื่องราวของช้าง มีกิจกรรมนั่งช้างชมทัศนียภาพรอบๆ ศูนย์ฯ หรือจะไปชมช้างอาบน้ำตามธรรมชาติที่วังทะลุ และเลือกซื้อสินค้า OTOP หลายรูปแบบที่ทำโดยฝีมือชาวช้าง
การท่องเที่ยวไปบน "เส้นทางท่องเที่ยว OTOP Village Champion" ในภาคอีสานใต้นี้ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่มีความน่าสนใจ นักท่องเที่ยวจะได้รับทั้งความสุข สนุกสนาน ได้ชอปปิ้งของฝากในราคาที่ถูกใจ และได้ความรู้จากการมาเที่ยวถึงถิ่นติดตัวกลับบ้านไป ที่สำคัญเหนืออื่นใดถือว่าเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชาวบ้านท้องถิ่นให้พวกเขามีกำลังใจผลิตสินค้าโอทอปคุณภาพอย่างนี้ต่อไป
|
ขอบคุณที่มาข้อมูล ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 15 เม.ย. 2552
Advertisement
เปิดอ่าน 7,148 ครั้ง เปิดอ่าน 7,130 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,133 ครั้ง เปิดอ่าน 7,160 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,127 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,127 ครั้ง เปิดอ่าน 7,129 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง เปิดอ่าน 7,396 ครั้ง เปิดอ่าน 7,141 ครั้ง เปิดอ่าน 7,128 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 7,130 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,129 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,130 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,131 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,130 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,128 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 7,129 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 10,117 ครั้ง |
เปิดอ่าน 22,482 ครั้ง |
เปิดอ่าน 27,354 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,205 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,256 ครั้ง |
|
|