“ธีระเกียรติ” เผยหารือกับ “อนุพงษ์” ตกลงให้โรงเรียนรัฐจัดอนุบาล 3 ปี รองรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เร่งโรงเรียน สพฐ.เตรียมความพร้อมครู-สถานที่ พร้อมเดินหน้าลุยนโยบายที่แถลงไว้ทั้งหมด
วันนี้ (5 ม.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารองค์กรหลักของ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โดยซักซ้อมความเข้าใจนโยบายของตนที่ได้แถลงไว้ เช่น การแก้ไขปัญหาโรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการศึกษา หรือ โรงเรียนไอซียู ,การดำเนินงานของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ซึ่งต้องขับเคลื่อนการศึกษาสู่พื้นที่จริงๆ ,การให้ภาคเอกชนมามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ,การสอนคุณธรรม จริยธรรม ให้เด็กเกลียดการโกง ซึ่งต้องมีกิจกรรให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่ใช่พูดกันแค่นามธรรม ,การเตรียมการยกระดับผลคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซ่า ของเด็กไทยให้สูงขึ้น การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ตลอดจนการเตรียมการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกจาก ศธ.ตั้งเป็น กระทรวงการอุดมศึกษา ซึ่งเมื่อหมดรัฐบาลชุดนี้ กระทรวงการอุดมศึกษาควรจะต้องเกิด
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังได้เตรียมการปรับเพิ่มการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล ในสถานศึกษาของรัฐ จากที่จัดอนุบาล 2 ปี เพิ่มเป็น 3 ปี เพื่อรองรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่กำลังจะประกาศใช้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้หารือร่วมกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แล้วว่า ศธ.จะรับผิดชอบเรื่องการจัดการศึกษาระดับอนุบาล รองรับเด็กจากศูนย์เด็กเข้าเรียนด้วย เนื่องจากขณะนี้การจัดการศึกษาระดับอนุบาลยังมีความลักลั่นกันอยู่ โดยโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดอนุบาล 2 ปี ส่วนโรงเรียนเอกชน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) จัดอนุบาล 3 ปี และ สถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) จัดอนุบาล 3 ปี ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดความลักลั่น สถานศึกษาสังกัด ศธ.จะจัดอนุบาล 3 ปีเหมือนกันทั้งหมด โดยมอบให้ สพฐ.ไปดูความพร้อมของครูและอาคารสถานที่
“นโยบายการสอนภาษาอังกฤษ ต้องสานต่อที่ทำอยู่และเพิ่มเรื่องภาษาอังกฤษเด็กอาชีวศึกษา ซึ่งเด็กอาชีวะไม่จำเป็นต้องรู้ภาษาอังกฤษแบบทั่วไป แต่ต้องรู้ภาษาอังกฤษในวิชาชีพ โดยเด็กอาชีวะที่กำลังจะจบปีการศึกษา 2559 ทุกคน ที่ต้องเข้าอบรมคอร์สพิเศษ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดทำแอปพลิเคชันรวบรวมคำศัพท์เฉพาะทางช่างเพื่อออกไปทำงานได้เลย ซึ่งมีทั้งหมด 9 สาขาวิชา คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือนจะแล้วเสร็จ และผมได้กำชับให้มีการประเมินผลเด็กที่ผ่านการอบรมด้วย” นพ.ธีระเกียรติ กล่าวและว่า นอกจากนี้ ตนได้แจ้งคำสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ ศธ.สร้างกระแสเรื่องความปลอดภัยในการใช้ถนนจากเด็กๆ สู่พ่อแม่ ผู้ปกครอง จนเป็นนิสัยให้รักษาระเบียบวินัย และปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตลอดจนขอให้ข้าราชการระดับสูงลงพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบอุทกภัยน้ำท่วมในขณะนี้.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม 2560