“พะโยม” พบปัญหาเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจอาชีพเกษตรกรรม เปลี่ยนวิถีทำงานโรงงาน เร่งเดินหน้าทำโครงการยุวชนคนกล้า ปั้นเด็กเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่
วันนี้(3 ม.ค.) ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยว่า จากการไปตรวจราชการในหลายพื้นที่พบว่า บางพื้นที่มีปัญหาเด็กเลือกไปทำงานในโรงงาน ไม่ยอมสานต่ออาชีพเกษตรกรรมของพ่อแม่ ขณะเดียวกันวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีแทบทุกแห่งก็มีผู้เรียนน้อยมาก อีกทั้งอายุเฉลี่ยของเกษตรกรไทยก็อยู่ที่ 54 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่สนใจทำการเกษตร ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างเกษตรกรที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศ ปีที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จึงได้ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ทำโครงการคนกล้าคืนถิ่น จัดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไปในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่ต้องการไปเป็นเกษตรกร โดยมีปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรตัวอย่างมาเป็นวิทยากรอบรมให้
รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สพฐ.ยังมีโครงการยุวชนคนกล้า ซึ่งทดลองกับเด็กในกลุ่มโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ฯ จำนวน 600 คน โดยให้โจทย์ ว่า มีพื้นที่ 1 ไร่ ก็พอกิน ,มีพื้นที่ 3 ไร่ก็พอกิน และมีพื้นที่ 5 ไร่ก็พอกิน แล้วให้เด็กทดลองทำการเกษตรแนวใหม่ ใช้ที่ดินน้อย แต่มีกระบวนการคิดที่ดี มีการอบรม มีพี่เลี้ยง มีวิทยากรท้องถิ่น และปราชญ์ชาวบ้านมาช่วย เพื่อปลูกฝังให้เด็กกลุ่มนี้ต้องกลับไปเป็นเกษตรกร
“เราต้องการสร้างค่านิยมว่า อาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ถ้าทำเกษตรยุคใหม่ เน้นอาหารปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ ต่อไปประเทศไทยจะมีสินค้าทางการเกษตรที่ทั่วโลกนิยมได้ และเพื่อให้ทั้ง 2 โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในปี 2560 นี้ สพฐ.จะของบฯไปที่สำนักงานปลัด สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 25 ล้านบาท เพื่อนำมาสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ประมาณ 10,000 ราย ครอบคลุมทุกตำบลทั่วประเทศ และทำให้เป็นเกษตรกรตัวอย่าง โดยในกลุ่มนักเรียนจะเน้นคนที่มีแนวโน้มออกกลางคัน”ดร.พะโยมกล่าว
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 3 มกราคม 2560