ตั้ง ก.อุดมฯ!! ‘หมอธี’ ฟันธงแยกกระทรวงอุดมศึกษา ตั้งอธิการบดี ม.มหิดล ประธานยกร่างกฎหมาย
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และอธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้เข้าพบ โดยได้หารือถึงการแยกสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ออกมาเป็นกระทรวงอุดมศึกษา ทั้งนี้ ในช่วงที่ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ. ได้สั่งการให้ผู้เกี่ยวข้องเตรียมการยกร่างกฎหมายดังกล่าวไว้บ้างแล้ว เพียงแต่เป็นการเตรียมความพร้อมแบบค่อยเป็นค่อยไป ในส่วนของตนเหมือนเป็นการสานต่อ แต่มีความเห็นชัดเจนว่าต้องแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ.เพื่อให้การทำงานมีอิสระและคล่องตัว สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้
“ผมฟันธงว่าต้องแยกอุดมศึกษาออกจาก ศธ.เพราะเป็นความเห็นของประชาคม ไม่มีใครที่คิดไม่แยก โดยได้ตั้งให้ นพ.อุดมเป็นประธานในการดูแลเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ามีประสบการณ์ในการบริหารสถาบันอุดมศึกษา และเป็นประธาน ทปอ.ที่สำคัญมีความคุ้นเคยกับผม ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเคยมีการเตรียมความพร้อม ยกร่างกฎหมายในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาไว้บ้างแล้ว แต่อาจจะยังไม่รอบด้านเพียงพอ ดังนั้น จึงได้ขอให้นำกฎหมายต่างๆ ที่เคยยกร่างไว้ ทั้งในส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. … มาพิจารณารวมกัน เพราะแต่ละฉบับมีจุดอ่อน และจุดแข็งคนละอย่าง จึงอยากให้ดึงข้อดีของแต่ละฉบับมารวมกัน และยกร่าง พ.ร.บ.กระทรวงการอุดมศึกษาขึ้น เพื่อให้สมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเสนอผมพิจารณาภายในปี 2560 ก่อนที่โรดแมปการทำงานของรัฐบาลนี้จะหมดลง ซึ่งถือเป็นการเตรียมความพร้อม เพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ คณะกรรมการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ศธ.จะได้ไม่รวมอุดมศึกษาเข้ามาด้วย เพราะเรามีทิศทางชัดเจน” นพ.ธีระเกียรติกล่าว
นพ.ธีระเกียรติกล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กระทรวงการอุดมศึกษาคงเกิดไม่ทันในรัฐบาลนี้ เพราะมีเวลาทำงานเหลือเพียง 1 ปี แต่หากไม่เตรียมความพร้อมก็จะล่าช้าไปอีก และประชาคมอุดมศึกษาเองจะไม่มีความมั่นใจ อีกทั้งไม่ขัดต่อนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไม่ให้ปรับโครงสร้างใหญ่ในช่วงรัฐบาลนี้ เพราะการยกร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อม หากรัฐบาลต่อไปไม่ดำเนินการตาม ก็ต้องตอบคำถามประชาคมให้ได้ว่าทำไมถึงไม่ทำ
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ 29 ธ.ค. 59