ประเพณี บุญบั้งไฟ จังหวัดยโสธร
วันที่จัดงาน เดือน พฤษภาคม ของทุกปี
สถานที่ ณ สวนสาธารณะพญาแถน และ เขตเทศบาลเมืองยโสธร
ประเพณีบุญบั้งไฟ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า บุญเดือนหก จัดเป็นบุญประจำปีทุกปีในช่วงเดือนพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงก่อนที่จะลงมือทำนา สำหรับที่จังหวัดยโสธรจะจัดงานบุญบั้งไฟในวันสุดสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคม ในวันศุกร์จะเป็นวันที่คณะบั้งไฟทั้งหลายแห่ขบวนเซิ้งเพื่อขอรับบริจาคเงินซื้ออาหาร เครื่องดื่ม และสิ่งของจำเป็นในการร่วมทำบุญ สำหรับวันเสาร์จะเป็นวันแห่ขบวนฟ้อนรำเพื่อการแข่งขันด้านความสวยงามของท่าฟ้อนในจังหวะต่าง ๆตลอดทั้งการตกแต่งบั้งไฟและการจัดขบวนที่สวยงาม ส่วนในวันอาทิตย์จะเป็นวันจุดบั้งไฟ แข่งขันการขึ้นสูงของบั้งไฟ และการที่บั้งไฟสามารถลอยอยู่ในอากาศได้นานจะเป็นเครื่องตัดสินการชนะเลิศของการแข่งขัน
ประเพณีบุญบั้งไฟตามตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าถือชาติกำเนิดเป็นพญาคางคก ได้อาศัยอยู่ใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ในเมืองพันทุมวดี ด้วยเหตุใดไม่แจ้ง พญาแถนเทพเจ้าแห่งฝนโกรธเคืองโลกมนุษย์มาก จึงแกล้งไม่ให้ฝนตกนานถึง ๗ เดือน ทำให้เกิดความลำบากยากแค้นอย่างแสนสาหัสแก่มวลมนุษย์ สัตว์และพืช จนกระทั่งพากันล้มตายเป็นจำนวนมาก พวกที่แข็งแรงก็รอดตายและได้พากันมารวมกลุ่มใต้ต้นโพธิ์ใหญ่กับพญาคางคก สรรพสัตว์ทั้งหลายจึงได้หารือกันเพื่อจะหาวิธีการปราบพญาแถน ที่ประชุมได้ตกลงกันให้พญานาคียกทัพไปรบกับพญาแถน แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ จากนั้นจึงให้พญาต่อแตนยกทัพไปปราบแต่ก็ต้องพ่ายแพ้อีกเช่นกัน ทำให้พวกสรรพสัตว์ทั้งหลายเกิดความท้อถอย หมดกำลังใจและสิ้นหวัง ได้แต่รอวันตาย ในที่สุด พญาคางคกจึงขออาสาที่จะไปรบกับพญาแถน จึงได้วางแผนในการรบโดยปลวกทั้งหลายก่อจอมปลวกขึ้นไปจนถึงเมืองพญาแถน เพื่อเป็นเส้นทางให้บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลายได้เดินทางไปสู่เมืองพญาแถน ซึ่งมีมอด แมลงป่อง ตะขาบ สำหรับมอดได้รับหน้าที่ให้ทำการกัดเจาะด้ามอาวุธที่ทำด้วยไม้ทุกชนิด ส่วนแมลงป่องและตะขาบให้ซ่อนตัวอยู่ตามกองฟืนที่ใช้หุงต้มอาหาร และอยู่ตามเสื้อผ้าของไพร่พลพญาแถนทำหน้าที่กัดต่อย หลังจากวางแผนเรียบร้อย กองทัพพญาคางคกก็เดินทางเพื่อปฏิบัติหน้าที่การรบ มอดทำหน้าที่กัดเจาะด้ามอาวุธ แมลงป่องและตะขาบกัดต่อยไพร่พลของพญาแถนจนเจ็บปวด ร้องระงมจนกองทัพระส่ำระสาย ในที่สุดพญาแถนจึงได้ยอมแพ้และตกลงทำสัญญาสงบศึกกับพญาคางคกดังนี้
๑.ถ้ามวลมนุษย์จุดบั้งไฟขึ้นสู่ท้องฟ้าเมื่อใดให้พญาแถนสั่งให้ฝนตกในโลกมนุษย์ ๒.ถ้าได้ยินเสียงกบเขียดร้องให้รับรู้ว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว
๓. ถ้าได้ยินเสียงสนู (เสียงธนูหวายของว่าว) หรือเสียงโหวด ให้ฝนหยุดตกเพราะจะเข้าสู่ฤดูเก็บเกี่ยวข้าว หลังจากที่ได้สัญญากันแล้ว พญาแถนจึงได้ถูกปล่อยตัวไปและได้ปฏิบัติตามสัญญามาจนบัดนี้
ในปัจจุบันงานบุญบั้งไฟ ก็ยังคงมีขึ้นในวันเสาร์ - อาทิตย์ ที่ ๒ ของเดือนพฤษภาคมของทุกปี ณ.สวนสาธารณะพญาแถน โดยมีความเชื่อว่าเมื่อจัดงานนี้แล้วเทพยดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะดลบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล ทำให้พืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมสมบูรณ์
........................
ที่มา....ขอบคุณการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เอื้อเฟื้อข้อมูล
เตรียมตัวเตรียมใจไปดูบั้งไฟใหญ่ที่ยโสธร อย่าลืมกลอนเซิ้งบั้งไฟกลับมาฝาก แล้วบันทึกภาพบั้งไฟใหญ่มาฝากคนที่บ้านด้วยนะครับ (หากไม่ไปด้วยกัน)