RIPED เผยผลวิจัยสภาวะการศึกษาไทยปี 2558-2559 ผลสัมฤทธิ์เด็กไทยไม่น่าพอใจ เด็ก ม.6 ส่วนใหญ่ทำคะแนนโอเน็ตคณิต-อังกฤษ ได้ไม่ถึงร้อยละ 25 ติดต่อกัน 5 ปี แนะเพิ่มเรียนเนื้อหาวิชาหลัก ลดวิชาไม่จำเป็น ปรับหลักสูตรเหมาะกับช่วงอายุ
วันนี้ (21 ธ.ค.) ที่โรงแรมเอสดี อเวนิว กรุงเทพฯ สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดสัมมนาวิชาการ เรื่อง สภาวะการศึกษาไทยกับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปี 2559 โดย ผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้นำเสนองานวิจัยเรื่องสภาวะการศึกษาไทย ปี 2558-2559 ตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องกระจายอำนาจและส่งเสริมการแข่งขันทางการศึกษา เพื่อจะทำให้เกิดคุณภาพการศึกษา ที่ผ่านมาไทยประสบความสำเร็จในการส่งเสริมให้เด็กเข้าเรียน ทำให้อัตราการเข้าเรียนเพิ่มทุกระดับ ขณะที่อัตราการออกกลางคันค่อนข้างต่ำ แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็กไทยยังไม่เป็นที่น่าพอใจ หากพิจารณาจากคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต วิชาที่มีผลการทดสอบต่ำที่สุด 2 วิชา คือ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ โดยเพาะอย่างยิ่งในชั้น ม.6กว่าร้อยละ95 ของอำเภอทั่วประเทศมีค่าเฉลี่ยโอเน็ต 2 วิชานี้ไม่ถึงร้อยละ 25 ตลอดช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันผลคะแนนโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ พิซา ของนักเรียนไทยก็ต่ำกว่านักเรียนเวียดนามอย่างชัดเจน
ผศ.ดร.วีระชาติ กล่าวต่อไปว่า จากการวิเคราะห์สัดส่วนการเรียนวิชาหลักของเด็กไทย กับ เด็กเวียดนาม พบว่า เด็กไทยเรียนวิชาหลัก ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ น้อยกว่าเด็กเวียดนาม และสิงคโปร์ในทุกระดับอายุ แต่เด็กไทยเรียนในกลุ่มสาระการเรียนมากกว่าจึงทำให้ไม่สามารถเน้นการเรียนวิชาหลักได้มากพอ ขณะที่เด็กเวียดนามและสิงคโปร์เริ่มเรียนวิทยาศาสตร์ช้ากว่าเด็กไทย แต่สัดส่วนการเรียนเพิ่มมากขึ้นตามอายุของผู้เรียน ซึ่งตนมีข้อเสนอว่า ควรเพิ่มสัดส่วนการเรียนวิชาหลักให้มากขึ้น วิชาที่ไม่จำเป็นก็ลดสัดส่วนลง และควรปรับหลักสูตรให้การเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ มีสัดส่วนที่พอเหมาะกับช่วงอายุ
ผศ.ดร.วีระชาติ กล่าวด้วยว่า สำหรับด้านการบริหารจัดการ งบประมาณ ควรจัดสรรให้เหมาะสมในแต่ละระดับการศึกษา โดยเพิ่มให้แก่ปฐมวัย และจัดสรรให้ลดลงในระดับอุดมศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยควรพึ่งพาตนเองมากขึ้น และควรเน้นการกระจายอำนาจให้สถานศึกษา และส่งเสริมให้เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาช่วยจัดการศึกษามากขึ้น โดยที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ไม่จำเป็นต้องจัดการศึกษาทุกเรื่องทุกระดับ และปรับระบบคูปองการศึกษา โดยดึงผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของผู้บริหารสถานศึกษาและครูมากขึ้น
ด้าน ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ สกศ. กล่าวว่า รายงานวิจัยนี้ เป็นผลงานวิชาการที่สามารถชี้จุดอ่อน เสริมจุดแข็งด้านการศึกษา และยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายที่เป็นประโยชน์ ซึ่ง สกศ. จะนำไปวิเคราะห์ เป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อใช้ปรับในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2560-2574 พร้อมทั้ง เสนอต่อ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เพื่อพิจารณาต่อไป.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 21 ธันวาคม 2559