โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์....
วันที่ 23 ธ.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ศึกษาการแก้ไขปัญหาอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นรูปธรรม เรื่อง "การแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการให้เป็นรูปธรรม"ซึ่งมีสาระสำคัญ
"ระบบอุปถัมภ์" เป็นระบบความสัมพันธ์ของคน 2 ฝ่ายซึ่งมีความไม่เท่าเทียมกัน ฝ่ายที่อยู่เหนือกว่า คือ ผู้ที่มีทรัพยากรมากกว่าหรือมีอำนาจมากกว่าจะอยู่ในฐานะอุปถัมภ์ ฝ่ายที่อยู่ต่ำกว่า คือ ผู้ที่มีทรัพยากรน้อยกว่าหรือมีอำนาจด้อยกว่าจะเป็นผู้รับอุปถัมภ์ ซึ่งต่างฝ่ายต่างมีการแสวงหาแลกเปลี่ยนประโยชน์กันในลักษณะต่างตอบแทนตามเงื่อนไขที่มีต่อกัน
เมื่อวิเคราะห์ถึงความเสียหายที่มีผลต่อระบบราชการไทยจะพบว่าระบบอุปถัมภ์ได้สร้างความเสียหายในหลายมิติที่สำคัญ 3 ด้าน
1.ด้านการบริหารบุคคล ระบบราชการเสียโอกาสที่จะได้คนดีคนเก่งเข้ามาในระบบ แต่กลับได้บุคลากรที่มีคุณสมบัติ ความรู้ ความสามารถที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง ทำให้คนดีคนเก่งท้อแท้ ขาดขวัญกำลังใจ ขาดความมุ่งมั่นในการทำงาน จนทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของหน่วยงานราชการลดลง องค์กรไม่พัฒนาหรือพัฒนาไปได้ช้า ขาดความสามัคคี เกิดความขัดแย้งในองค์กร บุคลากรไม่มุ่งเน้นการสร้างผลงาน แต่มุ่งเน้นการเข้าหาผู้มีอำนาจ ประจบสอพลอ ข้าราชการถูกใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เกิดการเลือกปฏิบัติต่อข้าราชการในหน่วยงาน
2.ด้านการบริการประชาชน ประชาชนมีค่านิยมที่ไม่ดีในการรับบริการจากภาครัฐ โดยมักหาช่องทางที่ต้องอาศัยเส้นสาย ความสนิทความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือการเสนอเงินให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จนเกิดช่องทางการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ และผู้มาติดต่อขอรับบริการ เกิดการเรียกรับสินบน เกิดการเลือกปฏิบัติและมาตรฐานที่ไม่เท่าเทียม จนส่งผลให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อข้าราชการและระบบราชการ
3.ด้านการทุจริตคอร์รัปชั่น มีการประกาศใช้กฎหมายและระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์ของตนหรือของพวกพ้อง ซึ่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการบริหารและการปกครองประเทศโดยรวม เกิดการจัดสรรการใช้งบประมาณแผ่นดินและทรัพยากรในโครงการต่างๆ อย่างไม่เหมาะสม นอกจากนี้ระบบอุปถัมภ์เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการทุจริตการเลือกตั้งและเป็นที่มาของการซื้อสิทธิขายเสียง ผลเสีย คือ ทำให้ได้นักการเมืองที่ไม่มีความรู้ความสามารถและมีจริยธรรมเพียงพอที่จะเข้ามาบริหารประเทศ
ทั้งนี้ เพื่อจะให้การแก้ไขปัญหา ดังกล่าวประสบความสำเร็จ คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อเสนอแนะเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ 4 ด้าน ประกอบด้วย
(1) การดำเนินการด้านนิติบัญญัติรัฐสภาควรมีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัย มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและให้มีการป้องกันการใช้ระบบอุปถัมภ์ ส่งเสริมระบบคุณธรรมในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายบุคลากรภาครัฐ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการและเกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและเคร่งครัด
(2) การดำเนินการด้านการบริหารรัฐบาลควรให้ความสำคัญในทางปฏิบัติด้วยการที่ผู้นำระดับสูงทุกระดับต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในการสร้างและถือปฏิบัติตามระบบคุณธรรม ใช้หลักธรรมาภิบาลเป็นหลักในการบริหารบ้านเมือง ยกระดับการแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ในระบบราชการไทยให้เป็นนโยบาย หรือวาระแห่งชาติ รวมถึงการมีประมวลจริยธรรมที่ต้องมีสำนึกและปฏิบัติอย่างจริงจัง
ดังเช่น กฎเกณฑ์ของบางประเทศที่มีมาตรการป้องกันการทุจริต เช่น การห้ามรับของขวัญ รับเลี้ยง รับสินบน หรือเล่นกอล์ฟกับผู้มีส่วนได้ประโยชน์หรือการห้ามราชการที่เกษียณอายุราชการแล้วเข้าไปรับทำงานเป็นที่ปรึกษาให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่ข้าราชการผู้นั้นเคยมีอำนาจอยู่ในหน่วยราชการนั้นๆ ในระยะเวลาอย่างน้อย 2 ปี หลังจากเกษียณอายุราชการ
(3) การดำเนินการด้านตุลาการและกระบวนการให้ความเป็นธรรมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และคดี ควรลดขั้นตอนระยะเวลาในกระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรมให้มีความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม เข้าถึงได้ง่าย มีบทลงโทษที่สอดคล้องกับความร้ายแรงของความผิดและลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเด็ดขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและให้คนในสังคมเกรงกลัวต่อผลของการ กระทำความผิด
สำหรับกรณีที่ข้าราชการระดับสูงถูกร้องเรียนไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และจากการไต่สวนในเบื้องต้นหากพบว่ามีมูลความจริงตามที่มีการร้องเรียนดังกล่าว ควรให้ข้าราชการผู้นั้นยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันทีจนกว่าจะมีการวินิจฉัยให้แล้วเสร็จครบทุกขั้นตอนกระบวนการ เพื่อเป็นการป้องกันการแทรกแซง ขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และทำให้บุคคลทั่วไปได้เห็นถึงแนวโน้มจากผลการกระทำผิดที่ไม่ควรยึดถือเป็นแบบอย่าง
(4) การดำเนินการด้านสังคมและการรับรู้ สถาบันการศึกษา ฝึกอบรมระดับสูงทั้งของภาคราชการและเอกชนที่มีบทบาทในการจัดหลักสูตรสำหรับอบรมปลูกฝังนักการเมือง นักบริหาร และข้าราชการระดับสูง ควรจัดอบรมและวางกรอบของหลักสูตรเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างแท้จริง
โดยเน้นที่การปลูกฝังหลักจริยธรรมและคุณธรรม การคัดเลือกบุคคลที่ เข้าศึกษาควรเลือกบุคคลที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง มิใช่ประเภทที่หวังเข้ามาศึกษาอบรมเพราะต้องการ มีคนรู้จัก สนิทสนมในแวดวงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลักสูตรของหน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมที่ต้องพึงระมัดระวังอย่างมากไม่ให้มีการใช้โอกาสของความใกล้ชิดสนิทสนมของการ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นของหลักสูตรอบรมต่างๆ มาแสวงประโยชน์ที่มิชอบด้วยกฎหมาย ก่อให้เกิดการอุปถัมภ์ใน ลักษณะต่างๆ ที่นำไปสู่การทุจริตหรือการเลือกปฏิบัติที่เกิดความไม่เป็นธรรมในสังคมขึ้นได้
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 21 ธันวาคม 2559