การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ การดำเนินการวิจัยมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหา ความต้องการและแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ใช้การประชุมรับฟังความคิดเห็น จากผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร จำนวน 50 คน ศึกษาสถานศึกษาที่มีการปฏิบัติที่ดี (Best Practice) จำนวน 8 โรงเรียน และสัมภาษณ์ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน แหล่งข้อมูลทั้งหมดได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ขั้นตอนที่ 2 การสร้างรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ใช้การสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 9 คน เพื่อยกร่างรูปแบบฯ และตรวจสอบร่างรูปแบบฯ โดยการสนทนากลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิและผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร จำนวน 15 คนพร้อมทั้งตรวจสอบความเป็นไปได้และความเหมาะสมของรูปแบบฯ โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย(Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ขั้นตอนที่ 3 การทดลองใช้รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยดำเนินการทดลองใช้กับสถานศึกษาขั้นพื้นฐานในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร ที่สมัครใจเข้าร่วมทดลองใช้รูปแบบฯ จำนวน159 แห่ง และดำเนินการต่อเนื่อง 3 ปีการศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556–2558 และเก็บข้อมูลผลการดำเนินงานทุกปีการศึกษาใน 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) ด้านโอกาสทางการศึกษา 2) ด้านคุณภาพทางการศึกษาและ 3) ด้านประสิทธิภาพ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานระหว่างปีการศึกษาโดยพิจารณาจากค่าพัฒนาการในแต่ละปีการศึกษา ขั้นตอนที่ 4 การประเมินรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ โดยการจัดทำประชาพิจารณ์ (Public hearing) ผู้บริหารและครูผู้สอนจากโรงเรียนที่ร่วมทดลองใช้รูปแบบ จำนวน 318 คน เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและประเมินความพึงพอใจในด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำรูปแบบฯ ไปใช้ ด้านกระบวนการนำรูปแบบฯ ไปใช้และด้านผลที่ได้รับจากการนำรูปแบบฯ ไปใช้ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า รูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) ด้านบริบท 2) ด้านประชากรวัยเรียน 3) ด้านบุคลากร 4) ด้านแนวทางการจัดการศึกษา และ5) ด้านผลผลิต โดยผู้ทรงคุณวุฒิมีความเห็นว่ารูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมากที่สุด และเมื่อนำรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ไปทดลองใช้ พบว่า ทั้งด้านโอกาสทางการศึกษา ด้านคุณภาพทางการศึกษา และด้านประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ มีผลการพัฒนาดีขึ้นในทุกด้าน และทุกรายการในแต่ละด้านมีผลการพัฒนาดีขึ้นตลอดระยะเวลาที่ทดลองการใช้รูปแบบตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ถึงปีการศึกษา 2558 ส่วนผลการประเมินรูปแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสในเขตพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดารสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ทั้งด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการนำรูปแบบฯ ไปใช้ ด้านกระบวนการนำรูปแบบฯ ไปใช้ และด้านผลที่ได้รับจากการนำรูปแบบฯ ไปใช้ พบว่า ผู้ใช้รูปแบบฯ มีความพึงพอใจต่อรูปแบบทั้งในภาพรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก