นโยบายศธ.เดินตามพระราชปณิธาน ร.9
“ธีระเกียรติ” พร้อม 2 รมช.ศธ. ให้นโยบายการทำงานผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 10 ทรงให้สืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนงานการศึกษาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ.เปิดเผยภายหลังการมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารระดับสูงของ ศธ. ว่า จากการที่ตน พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิสกุล รมช.ศธ.ได้เข้าถวายสัตย์ปฎิญาณต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร สมเด็จพระเจ้าอยู่รัชกาลที่ 10 ทรงขอให้ผู้บริหารทุกคนสืบสานพระราชปณิธานด้านการศึกษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาขับเคลื่อนงานการศึกษาให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม เพราะพระราชปณิธานของพระองค์ท่านถือเป็นพรอันสูงสุด ซึ่งตนจะน้อมนำมาปฏิบัติ และจะทำงานตามยุทธศาสตร์ของรัฐบาล 6 ข้อ คือ ความมั่นคง, ศักยภาพในการแข่งขัน ,การลงทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ ,ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ,การเจริญเติบโตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การปฎิรูประบบราชการ
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่ายุทธศาสตร์ต่างๆ หรือ การปฎิรูปการศึกษาที่กำลังดำเนินการจะต้องเกิดผลสำเร็จภายใน 5 ปี ดังนั้น ในปีแรกนี้ ศธ.จะมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำรวจโรงเรียนไอซียู หรือ โรงเรียนที่ประสบปัญหาวิกฤติทางการศึกษา เพื่อยกระดับโรงเรียนเหล่านี้ให้มีคุณภาพ โดยจะไม่ซ้ำซ้อนกับโรงเรียนในโครงการประชารัฐ ภายในระยะเวลา 5 ปีจะแก้ปัญหาให้ครอบคลุมทั้งหมด ทั้งนี้ โครงการต่างๆที่ดำเนินการไว้แล้วจะไม่มีการยกเลิก อาทิ โครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ฟื้นตกซ้ำชั้น และโรงเรียนดีใกล้บ้าน เป็นต้น แต่ในส่วนโครงการโรงเรียนดีใกล้บ้าน ตนคงไม่ได้ยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กทั้งหมด แต่จะพัฒนาเป็นรายโรงเรียนตามความเหมาะสม ที่สำคัญการทุจริตในยุคนี้ไม่ว่าบนโต๊ะ ใต้โต๊ะ หรือ ใต้น้ำ จะต้องไม่เกิดขึ้น โดยตนจะดูแลปัญหาการทุจริตของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เองขณะเดียวกันก็จะยกระดับเรื่องตำราเรียนใหม่ด้วย
" ผมอยากให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ไอดอล สำหรับครู นักเรียน และผู้ปกครอง ในการประพฤติปฎิบัติตนที่ดีตามแนวพระราชดำรัสในหลวงငรัชกาลที่ 9 และจะขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกคนเป็นประธานประชุมคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.)ด้วยตนเอง เนื่องจากที่ผ่านมามีการมอบให้รองผู้ว่าฯไปปฎิบัติหน้าที่แทน เพราะ กศจ.เป็นเหมือนยาวิเศษเหมือนเป็นตัวช่วยการบริหารงานจากส่วนกลาง" รมว.ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 ธันวาคม 2559