ปลัด ศธ. เผย ที่ประชุม ก.ค.ศ.มีมติปรับหลักเกณฑ์การย้ายข้าราชการครู ชี้ คุณสมบัติผู้ขอย้ายต้องทำงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24 เดือน มอบอำนาจ กศจ.เกลี่ยอัตรากำลังทั้งหมด
วันนี้ (19 ธ.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตามที่สำนักงานก.ค.ศ. เสนอ ซึ่งได้มีการปรับปรุงสาระสำคัญใน 7 ประเด็น คือ
1. คุณสมบัติผู้ขอย้ายกรณีปกติ เดิมต้องทำงานในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอย้าย เปลี่ยนมาเป็นให้นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้ายให้ตรงกัน
2.ระยะเวลาในการยื่นคำร้องขอย้าย เดิมให้ยื่นภายในเดือนมกราคมของทุกปี หลักเกณฑ์ใหม่จะกำหนดเวลาการยื่นที่ชัดเจน โดยให้ยื่นภายในเดือนมกราคม กำหนดเวลาการยื่น จำนวน 15 วัน และให้ยื่นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) เพียงที่เดียวเท่านั้น ส่วนจะเป็นช่วงเวลาใดนั้นให้สพฐ. เป็นผู้กำหนด
3.ระยะเวลาการพิจารณาย้าย จะมีการพิจารณา 2 รอบ รอบแรกวันที่ 15 กุมภาพันธ์-15 มีนาคม รอบสอบ วันที่ 15 กันยายน -15 ตุลาคม เพื่อทดแทนอัตราเกษียณให้ทันก่อนเปิดภาคเรียน จากเดิมที่ใช้เวลานานกว่า 3-4 เดือน
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า
4.การกำหนดองค์ประกอบในการย้าย ให้คงองค์ประกอบหลักไว้ตามเดิม แต่กำหนดเพิ่มเติมคือให้สพฐ.กำหนดรายละเอียดตัวชี้วัดและองค์ประกอบ ตามที่ก.ค.ศ.กำหนดให้เป็นองค์ประกอบเดียวกันทั่วประเทศ จากเดิมที่แต่ละพื้นที่จะใช้องค์ประกอบและตัวชี้วัดที่แตกต่างกัน และให้กศจ.พิจารณาย้ายพร้อมกันทุกเขตพื้นที่ฯในภาพรวมของจังหวัด
5. การเกลี่ยอัตรากำลัง ที่ผ่านมา แต่ละเขตพื้นที่จะเกลี่ยอัตรากำลัง ในเขตพื้นที่ฯที่ครูเกินไปเขตพื้นที่ฯที่ครูน้อยได้ยาก แต่หลักเกณฑ์ฯใหม่ให้อำนาจกศจ. ในการพิจารณาเกลี่ยอัตรากำลังทั้งตำแหน่งและเงินเดือนได้ ตามกรอบที่ก.ค.ศ.กำหนด
6.การกำหนดระยะเวลาในการยื่นขอย้าย และ
7.เงื่อนไขการส่งสำนำคำสั่งย้าย ให้คงไว้ตามหลักเกณฑ์ฯเดิม
“การปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายครูฯ ครั้งนี้ เพื่อ ให้สอดคล้องกับบริบทการบริหารงานบุคคลของคณะกรรมการศึกษาธิการ(กศจ.) ให้มีครูไปปฏิบัติการสอนได้ทันก่อนเปิดภาคเรียน สามารถนำตำแหน่งว่างภายหลังการย้าย เพื่อใช้บรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันได้/ผู้ได้รับการคัดเลือกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้สพฐ.สามารถกำกับดูแลการ ดำเนินการเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสม ทำให้การดำเนินการมีความยืดหยุ่นคล่องตัว ซึ่งต่อไปปฏิทินการย้ายจะมีการกำหนดวันที่ชัดเจน โดยจะเริ่มใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการย้ายครูเดือนมกราคม 2560 ” ดร.ชัยพฤกษ์กล่าว และว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบ กรณีที่ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ( คปร.)ได้แจ้งมติ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นขอบยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ปี2558 คืนให้กับโรงเรียนประถมและโรงเรียนขยายโอกาสทีมีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 ขึ้นไป จากเดิมที่กำหนดกรอบอยู่ที่ 250 คน ทำให้สพฐ.ได้ครูคืนกลับมาจำนวน 1,085 อัตรา ใน 922 โรงเรียน
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559
ด้านกลุ่มสารนิเทศ สอ.สป. ก็ได้นำเสนอข่าวนี้เช่นกัน ดังนี้
ก.ค.ศ.มีมติปรับปรุงหลักเกณฑ์การย้ายครู
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ครั้งที่ 12/2559 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม 2559 ณ ห้องประชุม 5 ชั้น 1 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ
ที่ประชุมพิจารณาการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการย้ายครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยได้นำเสนอ 4 หลักเกณฑ์ ได้แก่ ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของการบริหารงานบุคคลของ กศจ., เพื่อให้มีครูไปปฎิบัติการสอนทันก่อนเปิดภาคเรียน, เพื่อให้สามารถนำตำแหน่งว่างภายหลังการย้าย มาใช้บรรจุและแต่งตั้งผู้สอบแข่งขันและผู้ได้รับคัดเลือก ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้ สพฐ. สามารถกำกับดูแลการดำเนินงานเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสม และทำให้การดำเนินการมีความยืดหยุ่นคล่องตัว โดยมีสาระสำคัญอยู่ 7 ประเด็น คือ
1. คุณสมบัติของผู้ขอย้ายกรณีปกติ เดิมกำหนดให้ “ปฏิบัติงานสอนในสถานศึกษาปัจจุบันติดต่อกันไม่น้อยกว่า 24 เดือนนับถึงวันที่คำขอ” เปลี่ยนเป็น “...นับถึงวันสุดท้ายที่กำหนดให้ยื่นคำร้องขอย้าย”
2. ระยะเวลาการยื่นคำร้องขอย้าย ปรับเป็น ให้ยื่นคำร้องขอย้ายปีละ 1 ครั้งเช่นเดิม ภายในเดือนมกราคม มีกำหนด 15 วัน ซึ่ง สพฐ.จะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบกำหนดปฏิทินการยื่นคำร้องขอย้ายให้ตรงกันทั่วประเทศ
3. ระยะเวลาการพิจารณาย้าย กำหนดให้มี 2 ครั้ง คือครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 15 มีนาคม เพื่อให้มีครูไปปฏิบัติงานสอนทันกับการเปิดภาคเรียน และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 15 กันยายน ถึงวันที่ 15 ตุลาคม เพื่อสามารถบรรจุและแต่งตั้งทดแทนอัตรากำลังเกษียณอายุราชการได้อย่างรวดเร็ว
4. การกำหนดองค์ประกอบการย้าย เดิมดูจากองค์ประกอบ 7 เรื่อง เช่น ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ลำดับสถานศึกษาที่ขอย้าย เวลาที่ดำรงตำแหน่ง ความยากลำบากในการปฏิบัติงาน เหตุผลการขอย้าย ความอาวุโส ความเห็นกรรมการสถานศึกษา เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรคง 7 องค์ประกอบนี้ไว้ดังเดิม แต่ที่ผ่านมาพบว่าแต่ละจังหวัดมีตัวชี้วัดและคะแนนพิจารณาแตกต่างกัน ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ สพฐ. กำหนดรายละเอียดของตัวชี้วัดและองค์ประกอบในการย้าย ตามกรอบของ ก.ค.ศ. เพื่อใช้เป็นเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ โดยจะกำหนดรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมนี้
5. การเกลี่ยอัตรากำลัง ที่ผ่านมาพบว่าในจังหวัดเดียวกัน แต่ละพื้นที่จะเกลี่ยอัตรากำลังจากเขตที่ครูเกินไปเขตที่ครูน้อยได้ยาก ที่ประชุมจึงมีมติเป็นแนวปฏิบัติว่า ให้อำนาจ กศจ.ในการเกลี่ยทั้งตำแหน่งละอัตราเงินเดือนได้ตามกรอบที่ ก.ค.ศ. กำหนด ส่วนการย้ายเพื่อความเหมาะสมและประโยชน์ของราชการ ให้เป็นอำนาจของศึกษาธิการจังหวัดเสนอ
6. การกำหนดระยะเวลาการส่งคำร้องขอย้าย ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามปฏิทินที่ สพฐ.กำหนด
7. เงื่อนไขการส่งสำเนาคำสั่งย้าย ต้องแจ้งผลการย้ายภายใน 7 วัน
นอกจากนี้ คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ได้แจ้งมติ ครม.เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 เห็นชอบการงดเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อ 2558 คืนให้กับโรงเรียนประถมและโรงเรียนขยายโอกาสที่มีจำนวนนักเรียนตั้งแต่ 120 คนขึ้นไป จากเดิมกำหนดไว้ที่ 250 คน ส่งผลให้ สพฐ.ได้ครูคืนมา 1,085 อัตรา ในจำนวนโรงเรียน 922 โรงเรียน เพื่อมาบรรจุแต่งตั้งต่อไป
ปารัชญ์/สรุป กิตติกร/ภาพ
ที่มา เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ 20 ธ.ค.2559