คอลัมน์ เลาะเลียบคลองผดุงฯ: อนิจจา PISA ของไทย
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน
tulacom@gmail.com
ทันทีที่รายงานผลคะแนนการทดสอบ Programme for International Students Assessment 2015 หรือ PISA 2015 ของไทย มีผลลดลงจากการสอบเมื่อปี 2012 ในทุกวิชา เพราะคะแนนโดยรวมทั้งระบบไม่ดี จึงกลายเป็นที่มาของการวิจารณ์กันอย่างอึงอลอีกครั้งในวงการศึกษาไทย
ขนาดที่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศธ.ทำหน้าที่รักษาการ รมว.ศธ. ออกมาอธิบายความแบบร้อนรนว่า นั่นไม่ใช่ปัญหาคุณภาพการจัดการศึกษา แต่เป็นเพราะปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างร.ร.ที่มีความพร้อมกับโรงเรียนที่ด้อยโอกาสตะหาก
ทั้งๆ ที่ภาพรวมผลคะแนน PISA ของไทยทั้งประเทศ พบว่า วิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับพอๆ กับของเดิม มิหนำซ้ำผลคะแนนการอ่านยังต่ำลงอย่างชัดเจน
แต่ปรากฏว่า เวียดนามเพิ่งเข้าร่วมการประเมินผล PISA 2012 กลับมีผลการประเมินคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำ และสูงกว่าอีกหลายประเทศที่มีทั้งค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมสูงกว่าอีกด้วย
การวิจัยของธนาคารโลกซึ่งใช้ฐานข้อมูลของ PISA 2012 หาคำตอบว่า อะไรทำให้นักเรียนเวียดนามเรียนรู้ได้ดีกว่านักเรียนจากประเทศที่มั่งคั่งกว่า พบว่า ความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ มีความสัมพันธ์กัน
ครูเวียดนามทำงานภายใต้ระเบียบวินัยความเป็นครูที่เคร่งครัด ภาระหน้าที่ของครู คือ สอน ดูแลควบคุมนักเรียนเป็นสำคัญ มีระบบการนิเทศใกล้ชิดจากครูใหญ่ บวกความขยันของนักเรียน
ความขยันเป็นพื้นฐานของคนเวียดนาม จึงเป็นกรอบให้ขยันเรียนหนังสืออย่างหนัก และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ระเบียบวินัยไม่ดี
พ่อแม่มีความคาดหวังสูงและมีส่วนร่วมในชีวิตศึกษาของลูกหลาน ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครูและมีส่วนช่วยงานร.ร. ในการจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียนทุกอย่างเท่าที่ทำได้
ผู้บริหารการศึกษาในกระทรวงศึกษาธิการไทยที่ฉลาดๆ ต่างรู้ดีถึงเรื่องนี้ แต่ทำไมกลับมองไม่เห็น แถมชอบก๊อบปี้ข้อสอบ PISA เอามาให้นักเรียนทำ
ขอบคุณที่มาจาก ข่าวสด วันที่ 16 ธันวาคม 2559