เปิดจิตวิญญาณเด็กวิทย์ กับการสานต่อพระราชปณิธาน รัชกาลที่ 9
เพื่อการพัฒนา “สังคม” และ “ประชาชน”
“ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้ด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์” ซึ่งนับเป็นที่ประจักษ์ชัด จนสามารถเชื่อได้ว่า สามารถแก้ไขได้จริง จากการได้พบเห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 กษัตริย์นักพัฒนา ผู้นำวิทยาการและองค์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาบูรณาการ ผ่านโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการ ด้วยมุ่งบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดั่งเช่น โครงการ “ฝนหลวง” การพัดพาเมฆฝนให้ไปตกแก่ผืนดินที่แห้งแล้ง ด้วย 3 วิธีการหลักคือ ก่อกวน เลี้ยงให้อ้วน และโจมตี โครงการ “แกล้งดิน” การแก้ปัญหาดินที่มีสภาพเป็นกรด ด้วยการขังน้ำให้เต็มพื้นที่จนเกิดปฏิกิริยาเคมีที่ทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุด แล้วจึงระบายน้ำออก ก่อนฟื้นฟูสภาพดินด้วยปูนขาว ฯลฯ
ทั้งนี้ โครงการในพระราชดำริข้างต้น ล้วนเป็นโครงการที่พัฒนาและขยายผลด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งบ่มเพาะและพัฒนาบัณฑิตวิทยาศาสตร์ให้เปี่ยมด้วยองค์ความรู้เฉพาะทางในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและความรู้ด้านธุรกิจ รวมไปถึงมุ่งพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ควบคู่ไปกับความพร้อมที่จะถ่ายทอดวิทยาการความรู้ เพื่อเป็นบุคลากรวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้รุดหน้าตามลำดับ อันสะท้อนผ่านเด็กวิทย์พันธุ์ใหม่ที่พร้อมก้าวเดินและสานต่อปณิธานของพ่อหลวงอย่างเต็มกำลังความสามารถ
“พัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศชาติ” โดย นางสาวปรียารัตน์ ชัยชิต นักศึกษาจากสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงความรู้สึกที่มีต่อพ่อหลวงว่า รู้สึกภูมิใจและปลาบปลื้มใจที่ประเทศไทยมีพระมหากษัตริย์ที่เปรียบเสมือนพ่อของคนไทยทุกคน ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนาที่มีพระปรีชาสามารถรอบด้าน ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายหลายโครงการเพื่อพัฒนาชีวิตของคนไทย ทรงห่วงใยในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทรงอุทิศพระวรกายในการทรงงานหนักเพื่อประชาชนของพระองค์ ซึ่งเหล่านี้เองที่ทำให้ประชาชนคนไทย รวมถึงตนรู้สึกรักและเทิดทูนพระองค์ท่านด้วยความจริงใจ ทั้งนี้ ตนในฐานะนักศึกษาสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จะสานต่อพระราชปณิธานของพระองค์ ผ่านการนำเอาแนวพระราชดำริต่าง ๆ ของพระองค์มาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต นำความรู้ความสามารถที่มีในด้านสิ่งแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด อาทิ การจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ หรือองค์ความรู้ต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ประชาชนอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน เพื่อพัฒนาประเทศชาติให้ดำเนินต่อไป
“ต้นแบบในการเป็น “ผู้ให้” จากพ่อหลวง รัชกาลที่ 9” โดย นางสาวณิชกานต์ พุทธิเสาวภาคย์ นักศึกษาจากภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร กล่าวถึงมุมมองการนำความรู้ด้านเทคโนโลยีการอาหารมาสานต่อพระราชปณิธานของพ่อหลวงว่า จะมุ่งนำองค์ความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิคการประกอบอาหารมาพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความหลากหลาย แปลกใหม่ และอุดมไปด้วยคุณประโยชน์ เพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับอาหารไทยให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และเผยแพร่ความรู้ด้านอาหารให้กับคนในสังคม ด้วยมีบุคคลต้นแบบในการเป็น “ผู้ให้” จากพ่อหลวง รัชกาลที่ 9 ที่ไม่ได้เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองแผ่นดินแค่ในตำแหน่งเท่านั้น แต่ทรงเป็นกษัตริย์ที่มุ่งดูแลประชาชนทุกชีวิตที่อยู่ใต้ปกครองให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อันจะเห็นได้จากพระราชกรณียกิจของพระองค์ ผ่านสื่อในช่องทางต่าง ๆ ยิ่งทำให้ตนรู้สึกโชคดีและภาคภูมิใจยิ่ง ที่ได้เกิดและเติบโตมาในรัชกาลของท่าน ขณะเดียวกัน ก็เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ ที่ผลักดันให้ตนอยากทำงานเพื่อสังคมมากยิ่งขึ้น
“การเกษตรเป็นศาสตร์ของแผ่นดิน” โดย นายสุเมธี ลิสวัสดิรัตนากุล นักศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร ได้กล่าวเสริมถึงมุมมองของการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตร ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทยให้ยั่งยืนว่า ในระยะเริ่มต้น จะนำความรู้ที่มีมาพัฒนาพื้นที่ฟาร์มในสาขาวิชาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านการเกษตรแบบครบวงจร ก่อนบูรณาทุกองค์ความรู้ทั้งด้านการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื้อ การปรับปรุงและขยายพันธุ์พืช การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ฯลฯ เพื่อต่อยอดสู่งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร รวมถึงการสร้างทรัพยากรใหม่เพื่อทดแทนทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากการได้เห็นพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงให้ความสำคัญกับปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตร ที่ทรงเคยดำรัสถึงความสำคัญของการเกษตร อย่าง “การเกษตรเป็นศาสตร์ของแผ่นดิน” ที่ถือเป็นกลไกสำคัญหนึ่งในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
“มุ่งทำกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคม” โดย นางสาวจินดาพร กองสีนักศึกษาจากภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ กล่าวทิ้งท้ายถึงมุมมองที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ไว้ว่า พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทรงเสียสละแรงกายแรงใจให้กับประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครองของพระองค์ โดยในหลายโครงการพระราชดำริของพระองค์ทำให้วิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น ทั้งโครงการฝนหลวง โครงการเศรษฐกิจพอเพียง โครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ และอีกหลายพระราชดำริที่มีความเกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ทั้งสิ้น ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ พัฒนาต่อยอด และถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคคลอื่นว่ามีเหตุผล มีที่มาที่ไปอย่างไร หรือทำไมจึงควรทำตามพระราชดำริของพระองค์ท่าน โดยตนสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะทำให้สามารถดำเนินรอยตามพระราชดำริของพระองค์ได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ด้วยยึดหลักวาทะสำคัญของนายกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา ที่ว่า “ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” อันสะท้อนถึงอุดมการณ์ และจิตวิญญาณของชาวธรรมศาสตร์ ที่มุ่งแต่จะทำกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสังคมเป็นหลักได้อย่างแจ่มชัด
ทั้งนี้ ตลอด 30 ปีแห่งการก่อตั้งคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สามารถผลิตบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพคืนสู่สังคมได้เป็นจำนวนมาก พร้อมกันนี้ยังมีทีมอาจารย์นักวิจัยคุณภาพที่สามารถสร้างสรรค์และพัฒนางานวิจัยคุณภาพ ที่สามารถนำไปต่อยอดและใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้เป็นจำนวนมาก อาทิ นวัตกรรมทีมอฟ วัสดุผงนาโนมหัศจรรย์ดูดซับแก๊ส–สารเคมี ที่มีประสิทธิภาพสูง นวัตกรรมพยากรณ์โรคต้นข้าวในนาข้าว นวัตกรรมแผ่นโฟมดูดซับน้ำมัน ภายใน 3 วินาที นวัตกรรมข้าวหอมมะลิธรรมศาสตร์ และ นวัตกรรมกล่องเก็บลำไยสด ต่ออายุ Shelf life 120 วัน ฯลฯ