ศธ.ตั้งคณะทำงานร่วม สพฐ.-สทศ.-สสวท. หวังยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ปรับรูปแบบการประเมินวัดความรู้เด็ก "หมอธี" เผย คะแนน PISA ชี้ชัดการศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ ลั่นอย่าโทษที่หลักสูตร
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงของ ศธ.เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้ชี้แจงให้ที่ประชุมรับทราบถึงข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีความห่วงใยโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ของเด็กไทย ที่มีคะแนนต่ำกว่าประเทศเวียดนามและสิงคโปร์ และอยากให้ ศธ.เร่งดำเนินการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายให้นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน และระบบการประเมินการศึกษาให้สอดคล้องกัน โดยจะนำคะแนน PISA มาเป็นส่วนหนึ่งในตัวอย่างที่จะต้องมีการปรับปรุงคุณภาพผู้เรียน
"แน่นอนว่าหากมีการเปลี่ยนระบบการประเมิน จะส่งผลให้การเรียนการสอนของโรงเรียนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย และหลังจากนี้การประเมินจะต้องวัดจากการให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น โดยรูปแบบการประเมินจะเน้นวัดความรู้ความสามารถของเด็กว่าอยู่ในระดับไหน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตนเอง" รักษาการ รมว.ศธ.กล่าว
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า การแก้ไขปัญหาคะแนน PISA ที่ต่ำไม่ใช่แก้ที่ตัวข้อสอบเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องยกระดับคุณภาพการศึกษาในภาพรวมให้มีความเท่าเทียมกัน โดยจะต้องไปดูว่าโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล โรงเรียนขยายโอกาสเหล่านี้ มีครูและสื่อการเรียนเพียงพอหรือไม่ โดยผลคะแนน PISA ที่ออกมานั้นชี้ให้เห็นว่า การศึกษาไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่ เพราะเด็กที่ทำคะแนนได้สูงจะมาจากกลุ่มโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนเน้นวิชาเฉพาะวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพียงอย่างเดียว เช่น โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ เป็นต้น ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเหมือนกับโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ ดังนั้นคงจะโทษว่าหลักสูตรไม่มีคุณภาพคงไม่ได้.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 15 ธ.ค.2559