เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 59 เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ได้นำเสนอข่าว วธ.ประกาศ 12 ศิลปินแห่งชาติ ปี’59 ‘สมบัติ เมทะนี-ชูวงศ์ ฉายะจินดา-ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี-ศักดิ์สิริ มีสมสืบ’ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (กวช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประกาศผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2559 ว่า คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ มีมติประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติ ประจำปี 2559 รวม 12 คน ใน 3 สาขา ได้แก่ 1.สาขาทัศนศิลป์ 4 คน ได้แก่ นางคำสอน สระทอง (ประณีตศิลป์-ทอผ้า), นายเดโช บูรณบรรพต (ภาพถ่าย), นางลาวัณย์ อุปอินทร์ (จิตกรรม) และ รศ.เสนอ นิลเดช (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) 2.สาขาวรรณศิลป์ 4 คน ได้แก่ นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ, นางชูวงศ์ ฉายะจินดา, นายธัญญา สังขพันธานนท์ และ ศ.พิเศษ เรืองอุไร กุศลาสัย และ 3.สาขาศิลปะการแสดง 4 คน ได้แก่ นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ดนตรีไทยสากล), นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน), นายสมบัติ เมทะนี (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) และนายหะมะ แบลือแบ (มะยะหา) (การแสดงพื้นบ้าน-ดีเกร์ฮูลู)
“จากนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รับพระราชทานเข็ม และโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ หรือวันเวลาใดตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ศิลปินแห่งชาติทุกคนจะได้รับการดูแลจากรัฐบาล มีเงินเดือน มีการช่วยเหลือให้ และดูแลเมื่อเสียชีวิต ทั้งนี้ ในส่วนของ วธ.จะจัดนิทรรศการเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้ทราบเกี่ยวกับศิลปินแห่งชาติแต่ละท่าน” พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าว
นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการ วธ.กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติมาเมื่อปี พ.ศ.2527 มีศิลปินสาขาต่างๆ ที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วรวม 266 คน และ พ.ศ.2559 จำนวน 12 คน รวม 278 คน เสียชีวิตแล้ว 120 คน มีชีวิตอยู่ 158 คน
สำหรับประวัติของศิลปินแห่งชาติ ดังนี้
สาขาทัศนศิลป์
นางคำสอน สระทอง ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ – ทอผ้า) ปัจจุบันอายุ 77 ปี เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานด้านการทอผ้าแพรวา คิดประดิษฐ์รูปแบบการทอผ้าที่เรียกว่า “เขาลาย หรือ ตะกรอลาย” เป็นผู้นำกลุ่มทอผ้าไหมแพรวานำผ้าไหมแพรวายาวที่สุดในโลก 99 เมตร 60 ลาย ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าไหมแพรวาขนาดหน้ากว้างพิเศษ 80 เซนติเมตร ความยาว 9 เมตร จำนวน 10 ลาย รวม 43 แถว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทำให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
นายเดโช บูรณบรรพต ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปัจจุบันอายุ 63 ปี สร้างสรรค์ผลงานแนวชีวิตที่มีศิลปะ จนเป็นเอกลักษณ์ พ.ศ.2534 ได้รับโปรดเกล้าฯ จากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ให้ถ่ายภาพสมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เพื่อใช้ในการเผยแพร่ และได้ถวายงานมาโดยตลอดด้วยผลงานการถ่ายภาพที่โดดเด่นจึงได้รับหนังสือ จากสำนักพระราชวังโปรดเกล้าฯ ให้เป็นช่างภาพในการบันทึกพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จเยือนต่างประเทศทั้งการเสด็จส่วนพระองค์ และการเสด็จแทนพระองค์
นางลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) อายุ 81 ปี เป็นศิลปินและนักวิชาการที่มีชีวิตเรียบง่าย มีความชำนาญในการเขียนภาพเหมือนบุคคลเป็นพิเศษ ได้เขียนภาพบุคคลสำคัญๆ ไว้จำนวนมาก อาทิ นายชวน หลีกภัย นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต เป็นต้น จนเป็นที่ยอมรับในสังคมและวงการศิลปะ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโปรดเกล้าฯ ให้ถวายงานรับใช้ในการเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ส่วนพระองค์ และพระสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์ในตำหนักต่าง ๆ อาทิ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นต้น
รศ.เสนอ นิลเดช ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) อายุ 82 ปี ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากความรักในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติ-สัญลักษณ์ โดยใช้หลักการการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมคือศิลปกรรม ได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับรายวิชาทางสถาปัตยกรรมไทยให้กับนักศึกษาตามสถาบันต่างๆ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย อาทิ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และโครงการอนุรักษ์พระที่นั่งเวหาศจำรูญ เป็นต้น
สาขาศิลปะการแสดง
นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) อายุ 65 ปี มีประสบการณ์ทางด้านดนตรีอย่างล้นหลาม เป็นหนึ่งในสมาชิกวงดนตรีเพื่อชีวิตที่โด่งดังอย่างคาราบาว ธนิสร์ได้เป็นผู้แต่งเติมสีสันให้งานเพลงคาราบาวในทุกบทเพลงมีคุณลักษณะเฉพาะมีความเป็นเอกลักษณ์อย่างเช่นบทเพลง “เมดอินไทยแลนด์” ที่เสียงขลุ่ยได้ปลุกค่านิยมของความเป็นไทยขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ หรือเมื่อถึงคราวต้องเดินทางบนถนนดนตรีด้วยตนเอง ธนิสร์ได้นำ “ขลุ่ย” เครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตขึ้นมาปลุกให้คนไทยได้ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทยในงานเพลงของตนเองได้อย่างสวยงามอย่างเช่นบทเพลง “ทานตะวัน” หรือบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บทเพลง “ความฝันอันสูงสุด” เสียงขลุ่ยที่เป่าออกมาสามารถสะกดอารมณ์ให้เกิดความรักชาติโดยพลัน
นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน -ช่างฟ้อน) อายุ 70 ปี เริ่มต้นเรียนการฟ้อนจากบิดาตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ได้รับการถ่ายทอดท่ารำต่างๆ รวมทั้ง ท่าฟ้อนสาวไหมซึ่งบิดา ต่อมาได้รับการถ่ายทอดท่ารำฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนรำสีนวล ยวนรำพัด สร้อยแสงแดง ฟ้อนเงี้ยว จากนายโม ใจสม อดีตนักดนตรี และนาฏศิลป์ชั้นครูของ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ และช่วยปรับปรุงเพลงสาวไหมทางเชียงรายขึ้นต่อเนื่องจากของเดิมแปลงทำนองจากเพลงลาวสมเด็จ จนการฟ้อนสาวไหมกลายเป็นเอกลักษณ์การฟ้อนของชาวบ้านศรีทรายมูล และ จ.เชียงราย จวบจนปัจจุบันนำไปฟ้อนเข้ากับจังหวะของกลองสิ้งหม้องในการแห่ครัวทานในงานปอยหลวง งานทอดผ้าป่า งานกฐินตั้งแต่ พ.ศ.2510 เป็นต้นมา ได้นำฟ้อนสาวไหม และฟ้อนพื้นบ้านไปเผยแพร่ ในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญทั้งการศึกษาวิจัย และการอนุรักษ์ลีลาการฟ้อนแบบดั้งเดิม และในกาลต่อมา นางพลอยศรีสรรพศรี อดีตนาฏกรในคุ้มเจ้าดารารัศมี และคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้นำท่าฟ้อนสาวไหมไปพัฒนาขึ้นเป็นสาวไหมอีกทางหนึ่งใช้ทำนองที่แตกต่างออกไปคือเพลงปั่นฝ้าย บรรจุเป็นการฟ้อนแบบหนึ่งในวิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่
นายสมบัติ เมทะนี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) อายุ 79 ปี เป็น “พระเอกตลอดกาล” นักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ นักร้อง เป็นคนที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นิยมการเพาะกายและรักษาสุขภาพ เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิง เมื่อ พ.ศ.2503 โดยรับบทพระเอกละครโทรทัศน์ เรื่องหัวใจปรารถนา คู่กับวิไลวรรณ วัฒนพานิช จากนั้น พ.ศ.2504 จึงหันไปแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก คือ รุ้งเพชร ของกมลศิลปภาพยนตร์ คู่กับรัตนาภรณ์ อินทรกำแหงมีผลงานแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค 16 มม.ถึงยุคภาพยนตร์สโคป 35 มม.เสียงพากย์ในฟิล์ม และซาวด์ออนฟิล์ม ผ่านการร่วมงานกับนักแสดงชั้นนำ และผู้สร้าง-ผู้กำกับของวงการบันเทิงไทยมามากมาย เป็นนักแสดงยอดนิยม และผู้กำกับภาพยนตร์ ที่กินเนสบุ๊คบันทึกไว้ว่าเป็นนักแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก โดยแสดงเป็นพระเอกถึง 617 เรื่อง
นายหะมะ แบลือแบ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ดิเกร์ฮูลู) อายุ 67 ปี คิดว่าการแสดงดิเกร์ฮูลูเป็นศิลปะการแสดงที่ควรอนุรักษ์ พออายุย่าง 16 ปี เริ่มมีความสนใจดิเกร์ฮูลู มักจะติดตามคุณปู่ไปศึกษา และเรียนรู้ทุกครั้ง จนมีความสามารถแสดงดิเกร์ฮูลูได้ เมื่ออายุ 21 ปี จึงชวนเพื่อนๆ ในหมู่บ้านที่สนใจจัดตั้งคณะดิเกร์ฮูลูรุ่นใหม่ ชื่อว่าคณะมะลูกทุ่ง และเป็นหัวหน้าคณะที่มีอายุน้อยที่สุดได้แสดงบนเวที เป็นครั้งแรกด้วยท่วงท่าร้องรำที่แปลกไปจากการแสดงของคณะอื่นๆ โดยนำเพลงไทยลูกทุ่งมาขับร้องในทำนองเพลงพื้นเมืองมลายู นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา คณะดิเกร์ฮูลูมะลูกทุ่ง ก็เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อคณะมะ ยะหา เพื่อต้องการให้ อ.ยะหา เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป ผลงานการแสดงที่โดดเด่น คือการสอดแทรกสาระความรู้เข้าไปกับการแสดง และผสมผสานการขับร้องภาษาไทย และภาษามลายูท้องถิ่นด้วยจังหวะที่รวดเร็วทันสมัย สามารถสื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทย และมาเลเซีย ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถานศึกษาในพื้นที่จังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้บรรจุเรื่องการแสดงดิเกร์ฮูลู เข้าไว้ในหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน
สาขาวรรณศิลป์
นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ นามปากกา ศักดิ์สิริ มีสมสืบ เป็นกวีผู้มีผลงานทั้งประเภทร้อยแก้ว และร้อยกรองสืบเนื่องอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลากว่า 3 ทศวรรษ ผลงานมีลักษณะสร้างสรรค์ และโดดเด่นในเชิงวรรณศิลป์ ทั้งด้านรูปแบบ เนื้อหา และความคิด กวีนิพนธ์มีทั้งประเภทที่มีฉันทลักษณ์ และไร้ฉันทลักษณ์ มีทั้งที่ดำเนินตามขนบ และต่างจากขนบดั้งเดิม โดดเด่นด้วยการสรรคำที่เรียบง่าย แต่มีลีลาและจังหวะที่เป็นอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ลำนำเฉพาะตนอันทรงพลังสอดคล้องกับเนื้อหากระทบใจ และเร้าความคิดผู้อ่าน บทกวีมีความลุ่มลึกตีความหมายได้หลายระดับตามระดับความรับรู้ และประสบการณ์ของผู้อ่าน งานเขียนส่วนใหญ่นำเสนอภาพสังคมร่วมสมัยที่วิถีชีวิตผู้คนอาจเลื่อนไหลไปตามกระแสสังคมจนวัตถุครอบงำจิตวิญญาณ และลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กวีนิพนธ์ของยังโดดเด่นด้วยลักษณะประสานศิลป์โดยใช้ศักยภาพด้านดนตรี และจิตรกรรมในการนำเสนอผลงาน ทั้งในรูปแบบหนังสือ และสื่อร่วมสมัยรูปแบบต่างๆ การอ่านขับขานบทกวีประกอบการแสดงดนตรี ทำให้สามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้าง และเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ทุกวัยโดยเฉพาะเยาวชน
นางชูวงศ์ ฉายะจินดา ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมมายาวนานกว่า 6 ทศวรรษ เป็นนักเขียนนวนิยายสตรีที่มีผลงานพิมพ์เผยแพร่แล้ว 100 เรื่อง และหลายเรื่องได้รับความนิยมนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครวิทยุหลายครั้ง เช่น จำเลยรัก ตำรับรัก เทพบุตรในฝัน กามเทพหลงทาง เงาอโศก พระจันทร์แดง สุดสายป่าน กำแพงเงินตรา และเกิดเป็นหงส์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้น สารคดี เรื่องแปล นวนิยายส่วนใหญ่เป็นนวนิยายรักพาฝันนำเสนอปัญหามิติต่างๆ ของความรัก เน้นการนำเสนอตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย มั่นคงในความรัก และความดีทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงจากจินตนาการ และสำนวนภาษาที่ราบรื่นชวนอ่านแล้ว เน้นย้ำคติธรรมเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และมุ่งหวังให้ผลงานของตนสร้างความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์อีกด้วย
รศ.ธัญญา สังขพันธานนท์ นามปากกา ไพฑูรย์ ธัญญา เริ่มเติบโตทางความคิดหลังเกิดเหตุการณ์ “14 ตุลา” จากการอ่านวรรณกรรมจำนวนมาก จึงปรารถนาจะเขียนหนังสือบอกเล่าความคิดของตน เรื่องสั้นชื่อ “ความตายของปัญญาชน” เป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นเขียนเรื่องสั้นส่งประกวดในเวทีต่างๆ และมักได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ ก่อกองทราย ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) พ.ศ.2530 จากนั้นมีหนังสือรวมเรื่องสั้น นวนิยาย หนังสือรวมบทกวี พิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบัน และได้รับรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ผลงานเรื่องสั้นหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ งานเขียนเป็นวรรณกรรมวิพากษ์สังคม นำเสนอภาพความเป็นจริงของชีวิตคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นของไทย หลายเรื่องเสียดสีวิพากษ์สังคมอย่างรุนแรง
ศ.พิเศษเรืองอุไร กุศลาสัย ปัจจุบันอายุ 96 ปี จบการศึกษาปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวัฒนธรรมสัมพันธ์จากรัฐบาลอินเดียไปศึกษาภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี ได้รับประกาศนียบัตรภาษาสันสกฤต และภาษาฮินดี เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม เกษียณอายุราชการจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยศิลปากร เริ่มเขียนหนังสือในช่วงที่เข้ารับราชการใหม่ๆ ได้เขียนเรื่อง “ญี่ปุ่น-ไทยผูกพันพันธมิตร” ต่อมาใน พ.ศ.2493 ได้ร่วมงานกับนายกรุณา กุศลาสัย (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ.2546) แปล มหากาพย์พุทธจริตเป็นภาษาไทย หลังจากนั้นได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันในนามปากกา กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัยอีกหลายเรื่อง เช่น เมฆทูต ของ กาลิทาส และคีตาญชลี ของ รพินทรนาถ ฐากุร รวมถึง มีผลงานสร้างสรรค์ในนามของตนอีก 5 ประเภท ได้แก่ งานแปล และงานนิพนธ์เกี่ยวกับภารตวิทยา กวีนิพนธ์ และประวัติเพลง ตำรา คู่มือ หนังสืออ่านเพิ่มเติมของชั้นประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เสียงร้องทำนองเสนาะ เพลงกล่อมลูก และเพลงต่างๆ ตลอดจนผลงานในลักษณะการเผยแพร่ความรู้ ผลงานนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างสม่ำเสมอ สร้างสรรค์งานแปล และงานแต่งต่อเนื่องกว่า 5 ทศวรรษ ผลงานดังกล่าวเปิดประตูสู่โลกวรรณกรรมของอินเดีย และเปิดพรมแดนความรู้เรื่องภารตวิทยาแก่ผู้อ่านชาวไทย ไม่ใช่เพียงเพราะการคัดเลือกต้นฉบับที่เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียน และกวีคนสำคัญของอินเดีย แต่เป็นเพราะการแปลที่ถอดความครบถ้วนถูกต้อง และใช้ภาษาไทยที่ไพเราะ ใช้วงศัพท์วรรณคดีที่มีความหมายรุ่มรวยล้ำลึก ผลงานนิพนธ์ทรงคุณค่าอย่างยิ่งในวงวรรณคดีไทย
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ 14 ธ.ค. 59