สพฐ.วางแนวทางขับเคลื่อนการเรียนวิชาประวัติศาสตร์ไทยตามนโยบาย ศธ. ชู 5 ธีมสำคัญสอนประวัติศาสตร์ในโรงเรียน เน้นเด็กคิดวิเคราะห์ หาหลักฐานเองจากแหล่งชุมชนท้องถิ่น
วันนี้ (13 ธ.ค.) ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยสำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา(สวก.) กำลังดำเนินการปรับการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ต้องการให้แยกวิชาประวัติศาสตร์ และ ภูมิศาสตร์ออกมาเป็นวิชาเฉพาะ ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วในโรงเรียนมัธยมศึกษา และจะขยายไประดับประถมศึกษาในเร็ว ๆ นี้ โดยการสอนวิชาดังกล่าวจะเน้นประเด็นหลักสำคัญ 5 หัวข้อ คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ ความเป็นมาของชาติไทย สัญลักษณ์ชาติไทย บรรพบุรุษ และภูมิปัญหาและวัฒนธรรมท้องถิ่นการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ที่สำคัญต้องสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำ และเน้นให้ผู้เรียนลงพื้นที่แหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ในชุมชนท้องถิ่นของตนเอง
“ต่อไปครูต้องเน้นต้องสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์มากกว่าท่องจำว่า ประวัติศาสตร์ไทยมีความเป็นมาอย่างไร ต้องทำให้เด็กคิดเอง ต่อยอดการเรียนรู้ ว่า สิ่งที่ครูสอนนั้น เกิดขึ้นจริงหรือไม่ด้วยการศึกษาค้นคว้าและหาหลักฐานมาอ้างอิง และหากเขตพื้นที่ใดมีโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ได้อย่างโดดเด่น ก็ให้นำมาเป็นต้นแบบให้แก่โรงเรียนอื่น ๆ ได้โดยไม่จำเป็นต้องรอการกำหนดรูปแบบการสอนจากส่วนกลาง” รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าวและว่า ส่วนการปรับเพิ่มเนื้อหาตำราเรียน เรื่องสถาบันกษัตริย์ด้วยการเพิ่มเนื้อหาการขึ้นครองราชย์ของรัชกาลที่ 10 และการสวรรคตของรัชกาลที่ 9 นั้นขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเรียบเรียงข้อมูล
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 13 ธันวาคม 2559