สกอ.ถกที่ประชุมอธิการบดีราชภัฎและสภาคณบดีครุศาสตร์ฯ เล็งปรับมาตรฐานการผลิตครูใหม่ สรุปเบื้องต้นเรียนครูต้อง 5ปี แต่ควรเรียนวิชาเอกอื่นควบคู่ไปพร้อมกันด้วย ย้ำต้องทำประชาพิจารณ์ผู้เกี่ยวข้องก่อนนำมาใช้จริง
วันนี้( 12ธ.ค.)ดร.สุภัทร จำปาทอง เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา(กกอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ตนได้หารือร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(ทปอ.มรภ.)และสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.)เกี่ยวกับกรอบแนวคิดมาตรฐานการผลิตครู ซึ่งได้ข้อสรุป 4 ประเด็น คือ1.ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ยังคงต้องใช้เวลาเรียน 5 ปี แต่ให้เพิ่มวิชาเอกคู่ เพื่อจะเกิดประโยชน์ต่อนักศึกษาเวลาไปทำงาน เช่น เรียนคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ให้เรียนวิชาเอกภาษาไทยและจิตวิทยาแนะแนวควบคู่ไปด้วย เป็นต้น 2.ให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติการสอนหลักแบบการทำงานจริงในชั้นปีที่ 5 ภาคเรียนที่ 1 เพื่อภาคเรียนที่ 2 เด็กจะได้กลับมาเล่าประสบการณ์ อุปสรรคปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างการไปฝึกปฎิบัติงาน เพื่อที่มหาวิทยาลัยจะได้จัดสอนเสริมในสิ่งที่ขาด รวมทั้งต้องกลับมาดูว่าการปฏิบัติการสอนระหว่างที่เรียนอยู่ชั้นปีที่ 1-4 ควรจะมีอยู่หรือไม่
ดร.สุภัทร กล่าวต่อไปว่า สำหรับประเด็นที่ 3.คุณสมบัติของอาจารย์ผู้สอนในคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์จริง และ4.มหาวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ จะต้องวางเครือข่ายโรงเรียนในพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ทปอ.มรภ.และส.ค.ศ.ท.จะต้องนำข้อสรุปดังกล่าวไปทำประชาพิจารณ์ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียได้แสดงความเห็นก่อนจะนำข้อสรุปที่ได้ไปปรับปรุงหลักสูตร และมาหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)อีกครั้งในเดือนมกราคม 2560
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 12 ธันวาคม 2559