Advertisement
FOCUS ประเด็นจาก PISA : ฉบับที่ 11 (พฤศจิกายน 2559)
การศึกษาเวียดนาม: ทำไมนักเรียนจึงมีผลการประเมินสูง
เวียดนามเพิ่งเข้าร่วมการประเมินผล PISA 2012 เป็นครั้งแรก แต่ผลปรากฏว่าเวียดนามได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของระบบโรงเรียน (PISA นิยามระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จ คือ มีผลการประเมินเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD) ใน PISA 2012 มีประเทศกำลังพัฒนาหรือประเทศรายได้ต่ำ (มี GDP ต่ำกว่า 10,000 USD, PPPs ข้อมูลของปี ค.ศ.2010) เข้าร่วมโครงการเพียงไม่กี่ประเทศ และแม้ว่าแนวโน้มโดยทั่วไปพบว่า ผลการเรียนรู้มีความสัมพันธ์กับค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษา แต่สำหรับเวียดนามไม่เป็นไปตามแนวโน้มนั้น (จุดดาวในรูป 1) เพราะปรากฏว่านักเรียนเวียดนามมีผลการประเมินคณิตศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ต่ำที่อยู่ในโครงการอีก 7 ประเทศ หรือที่เรียกย่อ ๆ ว่า กลุ่ม Dev7 (ได้แก่ แอลเบเนีย โคลอมเบีย อินโดนีเซีย จอร์แดน เปรู ตูนิเซีย และไทย) ถึง 128 คะแนน ซึ่งช่องว่างของคะแนนประมาณนี้ ตามเกณฑ์ของ OECD เทียบว่าเท่ากับการศึกษาเล่าเรียนที่ต่างกันเกือบสามปี และไม่เพียงแต่คะแนนสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเท่านั้น เวียดนามยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD และสูงกว่าอีกหลายประเทศที่มีทั้งค่า GDP และค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมสูงกว่าอีกด้วย ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เรียกกันว่า Vietnam effect (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)
อะไรทำให้ระบบโรงเรียนของเวียดนามประสบความสำเร็จ
การวิจัยของธนาคารโลกซึ่งใช้ฐานข้อมูลของ PISA 2012 เพื่อหาคำตอบว่าอะไรทำให้นักเรียนเวียดนามเรียนรู้ได้ดีกว่านักเรียนจากประเทศที่มั่งคั่งกว่า พบว่า ความแตกต่างทางวัฒนธรรมและการลงทุนทางการศึกษา คือส่วนหนึ่งของคำอธิบายในความสำเร็จของระบบการศึกษาเวียดนาม (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)
ความแตกต่างทางวัฒนธรรม คือ ปัจจัยที่กำหนดลักษณะของโรงเรียนและนักเรียนของเวียดนาม ซึ่งมีวัฒนธรรมสามส่วนประกอบกันที่สามารถอธิบายถึงความสำเร็จทางการศึกษาเวียดนาม ได้แก่ ความขยันของนักเรียน การทำงานหนักของครู และบทบาทสำคัญของพ่อแม่ที่มีต่อการศึกษาของลูก (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)
ครูเวียดนาม ทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมทางระเบียบวินัยของความเป็นครูที่เคร่งครัด ครูทำงานหนัก รับผิดชอบงานสอนเป็นสำคัญ และมีระบบการนิเทศใกล้ชิดจากครูใหญ่และองค์กรอื่น ผลรวมของความขยันของนักเรียนและครูจึงลงตัว รายงานจาก the Young Lives research project บอกว่า ครูมีความสามารถ ทำงานอย่างมืออาชีพ และมีวินัยสูงมาก และไม่ปรากฏเรื่องครูขาดสอนเลย (Bodewig C., 2013)
โรงเรียนเวียดนาม มีอำนาจอิสระในการตัดสินใจน้อย เพราะมีการบริหารแบบอำนาจมาจากส่วนกลางเต็มรูปแบบ ภาระหน้าที่ของครู คือ สอน ดูแลควบคุมนักเรียน และระบบโรงเรียนเวียดนามมีการเน้นความสำคัญของผลการเรียนรู้ของนักเรียนอย่างเข้มงวดกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 ทุกประเทศ
นักเรียนเวียดนาม วัฒนธรรมความขยันเป็นพื้นฐานของคนเวียดนาม ซึ่งส่งผลมาถึงการศึกษาของเวียดนามที่เป็นกรอบให้นักเรียนขยันเรียน ทุ่มเทกับการเรียนอย่างจริงจัง และเห็นว่าความสำเร็จทางการศึกษาของแต่ละคนคือสิ่งสำคัญมากในชีวิต นักเรียนเรียนหนังสือหนักมากภายใต้วัฒนธรรมที่มีความขยัน เมื่อเทียบกับประเทศกลุ่ม Dev7 อื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย นักเรียนเวียดนามมีวินัยสูงกว่า (ค่าดัชนีระเบียบวินัยเวียดนาม 0.36 ไทย 0.07) นักเรียนมาโรงเรียนสาย ขาดเรียน หรือหนีเรียนบางชั่วโมงของเวียดนามมีน้อยกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 มาก (เวียดนามมีนักเรียนเคยหนีเรียน 9% เทียบกับนักเรียนไทย 18% ที่เคยหนีเรียน) ยิ่งไปกว่านั้น ยังปรากฏข้อมูลที่น่าสนใจสำหรับนักเรียนเวียดนาม คือ แม้นักเรียนส่วนน้อยเท่านั้นที่ระเบียบวินัยไม่ดี แต่ความสัมพันธ์ระหว่างระเบียบวินัยกับคะแนนกลับมีความสัมพันธ์ตรงกันข้ามกับที่อื่น ๆ กล่าวคือ นักเรียนที่ระเบียบวินัยต่ำกลับมีคะแนนสูง (OECD, 2013b) ซึ่งชี้นัยว่าแม้นักเรียนเวียดนามจะมีปัญหาทางระเบียบวินัยอยู่บ้าง แต่ความเอาใจใส่ทางการเรียนก็ยังมีสูงเหมือนนักเรียนทั่วไป ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมเวียดนามที่ให้คุณค่าแก่การศึกษามีสูงนั่นเอง นักเรียนใช้เวลาเรียนปกติในโรงเรียนไม่ต่างจากนักเรียนที่อื่น ๆ แต่ใช้เวลาเรียนพิเศษนอกเวลามากกว่าค่าเฉลี่ยของนักเรียนที่อื่น ๆ ประมาณ 3 ชั่วโมงครึ่งต่อสัปดาห์
ในด้านความรู้สึกต่อวิชาคณิตศาสตร์ นักเรียนเวียดนามไม่มีความวิตกกังวลหรือไม่กลัวจะทำคณิตศาสตร์ไม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ครูและนักการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการสร้างความมั่นใจ ไม่เครียดและไม่กลัววิชาคณิตศาสตร์ และมีความมั่นใจสูงว่าจะใช้คณิตศาสตร์ในชีวิตได้อย่างไร เพราะความเครียด ความวิตกกังวลในวิชาคณิตศาสตร์ส่งผลเชิงลบกับคะแนนคณิตศาสตร์ (OECD, 2013a) เมื่อเทียบกับนักเรียนไทย พบว่า นักเรียนไทยกลัววิชาคณิตศาสตร์มากกว่า มีความวิตกกังวลว่าจะไม่สามารถเรียนได้ดีสูงกว่า (OECD, 2103a) นอกจากนี้ในหลักสูตรของเวียดนามยังให้สัดส่วนเวลาเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์สูง ในเวลาเรียนปกตินักเรียนเวียดนามมีเวลาเรียนต่อสัปดาห์ 31 ชั่วโมง ในขณะที่นักเรียนไทยมี 36 ชั่วโมง แต่นักเรียนเวียดนามเรียนคณิตศาสตร์ 227 นาที นักเรียนไทยเรียนคณิตศาสตร์ 206 นาที เมื่อรวมสามวิชาหลัก ปรากฏว่านักเรียนเวียดนามเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ภาษาแม่ และวิทยาศาสตร์รวมกัน 658 นาที แต่นักเรียนไทยเรียนเพียง 607 นาทีเท่านั้น
พ่อแม่ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งของความแตกต่าง แม้ว่าพ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามจะมีการศึกษาไม่สูงมากนัก แต่พ่อแม่กลับมีความคาดหวังสูงในด้านการศึกษาของลูกหลาน และมีส่วนร่วมในชีวิตทางการศึกษาของลูกหลาน คือทั้งมีความคาดหวังสูง ติดตามผลการเรียนอย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับครู และมีส่วนช่วยงานของโรงเรียน เช่น ช่วยในการระดมทุนเพื่อให้โรงเรียนจัดหาทรัพยากรการเรียนให้โรงเรียน (Parandekar, S., & Sedmik, E., 2016)
การลงทุนทางการศึกษา ภายใต้วัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญต่อการศึกษา ทำให้เวียดนามแม้ว่าจะมีเศรษฐกิจที่ด้อยกว่า GDP ที่ต่ำกว่าทุกประเทศในกลุ่ม แต่เวียดนามมีการลงทุนทางการศึกษาในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเทียบกับค่า GDP แม้ว่าเม็ดเงินจะไม่สูงมาก (ค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสะสมของเวียดนามมี 6,969 USD, PPPs ประมาณครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับ 13,964 USD, PPPs ของไทย) แต่ถ้าดูในสัดส่วนก็จะสูงกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 ทั้ง ๆ ที่เมื่อเทียบกับค่า GDP ที่ต่ำกว่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำกว่ามาก แม้กระนั้นการศึกษาเวียดนามก็ประสบความสำเร็จสูงกว่า เวียดนามมีโรงเรียนในชนบทหรือเมืองเล็กไม่มากนักน้อยกว่าประเทศกลุ่ม Dev7 แต่ก็เป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพได้มาตรฐานตาม Fundamental School Quality Level (World Bank, 2016) ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรการเรียน เวียดนามมีคอมพิวเตอร์ไม่มากเมื่อเทียบกับไทย แต่คอมพิวเตอร์ก็เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเกือบครบ
ปัจจัยที่ให้คำอธิบายเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ยังมีแง่มุมอื่น ๆ ที่อาจเพิ่มคำอธิบายส่วนที่เหลือของผลการประเมินที่แตกต่างของนักเรียนเวียดนาม ประการแรก คือ ข้อสังเกตที่เวียดนามมีนักเรียนจำนวนมากที่ออกจากโรงเรียนตั้งแต่จบชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษาตอนต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักเรียนที่ยากจน หรือนักเรียนชนกลุ่มน้อยทางชาติพันธุ์ สถิติอัตราการเรียนต่อของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายมีเพียง 60% เท่านั้น (ไทย 98%) และส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่ได้เปรียบกว่าทางวิชาการและทางด้านเศรษฐกิจ ส่วนนักเรียนยากจนมีอัตราการเรียนต่อที่ต่ำ เพราะมีเพียง 20% เท่านั้นที่เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (M.I., 2013) จึงชี้ว่านักเรียนที่เรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ได้เปรียบซึ่งผลการวิจัยชี้ว่า ตัวแปรนี้ส่งผลกระทบทางบวกต่อผลการเรียนรู้ และเนื่องจากนักเรียนอายุ 15 ปี ของเวียดนามศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 10 มีถึง 88% (OECD, 2013b) จึงเป็นที่แน่นอนว่ากลุ่มตัวอย่าง PISA ของเวียดนามถือว่าคัดเลือกมาแล้วโดยอัตโนมัติจากระบบฯ กล่าวคือคัดเลือกมาจากกลุ่มที่มีพื้นฐานที่ได้เปรียบกว่าอยู่แล้วโดยตัวเอง
ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ ประเด็นความซื่อสัตย์สุจริตในทางการศึกษาที่อาจจะอธิบายความแตกต่างนี้ (PISA ไม่ได้รวมเรื่องนี้ในการสำรวจ) การสำรวจของ Global Education Network Transparency ที่เป็นส่วนหนึ่งของ Transparency International ในเยอรมนีชี้ว่าในการศึกษาของเวียดนามมีการทุจริต ซึ่งจากการสำรวจได้ข้อมูลว่า ชาวเวียดนามถึง 49% เห็นว่าในภาคการศึกษาของเวียดนามมีการทุจริตมากถึงมากที่สุด แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่า คือ สิ่งที่เขานับว่าเป็นเรื่องทุจริตทางการศึกษา ได้แก่ การที่โรงเรียนดังรับเงินจากนักเรียนเพื่อให้ที่เรียนในโรงเรียน การที่ครูสอนพิเศษเก็บเงินจากนักเรียน ซึ่งทำให้ครูมีรายได้สูงมากจากส่วนนี้ และการที่พ่อแม่จ่ายเงินเป็นค่าเรียนกวดวิชาสำหรับลูกหลาน เพราะสิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบและสร้างความไม่เท่าเทียมกันทางการศึกษา (M.I. , 2013)
โปรดอย่าลืมว่า ทั้งสามประเด็นของสิ่งที่สากลถือว่าเป็นการทุจริตนี้ มีอยู่และเป็นอยู่อย่างปกติในระบบการศึกษาของไทย จึงอาจมีบางวันที่จะมีรายงานการทุจริตแบบนี้สำหรับประเทศไทยบ้าง ประเทศไทยซึ่งกำลังเอาจริงกับการปราบทุจริต จะก้าวมาดูแลส่วนนี้ด้วยหรือไม่
การชี้นัยสำหรับโรงเรียนไทย
ข้อมูลจากเวียดนามก็สามารถให้บทเรียนสำหรับโรงเรียนไทยได้บางอย่าง เพราะสาธารณชนมักจะพยายามเปรียบเทียบไทยกับเวียดนามเสมอมา ข้อมูลข้างต้นสามารถให้คำตอบได้บ้าง ที่ชี้ให้เห็นว่าเวียดนามประสบความสำเร็จได้ดีกว่า และความสำเร็จนั้นส่วนใหญ่มาจากวัฒนธรรมความขยันและการทำงานหนัก ความมีวินัย และการให้คุณค่าแก่การศึกษา ทั้งครู นักเรียน และประชาชนของเวียดนาม เวียดนามทำการศึกษาให้สอดรับกับนโยบายชาติ ประเทศเวียดนามกำหนด education and training, together with science and technology ไว้เป็น Top National Policy ชัดเจน นโยบายจึงมีจุดเริ่มต้นในโรงเรียน โดยการให้คุณค่าแก่วิชาหลักในหลักสูตรทั้งให้น้ำหนักและให้เวลาเรียนกับวิชาหลักมากขึ้น
พ่อแม่ของนักเรียนเวียดนามก็มีวัฒนธรรมแบบเดียวกับวัฒนธรรมแบบขงจื๊อ เช่น จีน และเกาหลี ที่รับรู้ว่าพ่อแม่มีหน้าที่ให้การศึกษาลูก จึงไม่คิดว่าการให้การศึกษาเป็นเรื่องความรับผิดชอบของรัฐบาล หรือของโรงเรียน แม้จะไม่ร่ำรวยมากแต่พ่อแม่ก็ทุ่มเทใหักับการศึกษาลูก ทั้งด้านทรัพยากร การดูแลเอาใจใส่การเรียน และช่วยหาทุนให้โรงเรียนตามกำลังความสามารถ ระบบโรงเรียนไทย จะสร้างวัฒนธรรมนี้ขึ้นมาได้หรือไม่ หรือว่าจะให้รอแต่การศึกษาฟรีที่พ่อแม่ไม่ต้องรับผิดชอบใด ๆ
เวียดนามกำหนดเป้าหมายที่จะทำประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานภูมิภาคและมาตรฐานสากล (World Bank, 2016) จึงเริ่มต้นโดยการทำโรงเรียนให้เข้าสู่มาตรฐาน แม้โรงเรียนในชนบทก็ได้รับการดูแลให้ถึงมาตรฐาน ไทยเราเองก็ควรกลับมาดูแลมาตรฐานโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนชนบทที่ยากจนบ้าง มิฉะนั้นก็จะล้าหลังเวียดนามต่อไป และท้ายสุด คือ การทุจริตในวงการศึกษาที่กล่าวข้างต้น ถ้าไม่สามารถกำจัดได้ การกำจัดทุจริตเรื่องใหญ่อื่น ๆ จะไปได้หรือ
จุดยุติ (End Point)
ระบบโรงเรียนไทยไม่สามารถแข่งขันกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียและอาเซียน ประเทศที่เคยล้าหลังไทยก็กลับแซงไปข้างหน้า แล้วประเทศไทยจะแข่งขันได้อย่างไร แม้ในอาเซียนด้วยกัน ถ้าไทยยังไม่รีบยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งการยกระดับนั้นมีข้อมูลที่ชี้บอกถึงจุดอ่อนของระบบของชาติ และจุดแข็งของระบบอื่น ๆ ที่พอจะใช้ประโยชน์ได้ แต่น่าเสียดายอย่างหนึ่งที่ข้อมูลและสาระดี ๆ เหล่านั้นไม่เคยถูกใช้ เพราะระบบไทยมักตัดสินอยู่บนฐานความคิดเห็นและความพอใจมากกว่าบนฐานของข้อมูล
อ่านเพิ่มเติม
- Bodewig, C., (2013, November 12), What explains Vietnam’s stunning performance in PISA 2012?, (Online), Available: http://blogs.worldbank.org /eastasiapacific/what-explains-vietnam-s-stunning-performance-pisa-2012, September 18, 2016.
- M.I., (2013, December 12), Education in Vietnam: Very good on paper, (Online), Available: http://www.economist.com/blogs/banyan/2013/12/ education-vietnam, September 18, 2016.
- OECD (2013a), PISA 2012 Results: Ready to Learn – Students’ Engagement, Drive and Self-Beliefs (Volume III), PISA, OECD Publishing.
- OECD (2013b), PISA 2012 Results: What Makes Schools Successful? Resources, Policies and Practices (Volume IV), PISA, OECD Publishing.
- Parandekar, S., & Sedmik, E., (2016, April), Unraveling a Secret: Vietnam's Outstanding Performance on the PISA Test, (Online), Available: http://documents.worldbank.org/curated/en/258431468196137980/Unraveling-a-secret-Vietnams-outstanding-performance-on-the-PISA-test, Retrieved September 18, 2016.
- Pfeiffer, C., (2016, July 17), Vietnam's students perform mysteriously well on tests, and researchers have figured out why, (Online), Available: http://www.businessinsider.com.au/vietnams-students-test-well-and-a-new-paper-has-figured-out-why-2016-7?utm_content=buffer 7d891&utm_medium=social&utm_source=facebook.com&utm_campaign=buffer?r=US&IR=T, Retrieved September 18, 2016.
- Schleicher, A., (2015, June 17), Vietnam's 'stunning' rise in school standards, (Online), Available: http://www.bbc.com/news/business-33047924, Retrieved September 18, 2016.
- World Bank, (2016), Education in Vietnam: Development History, Challenges and Solution., (Online), Available: http://siteresources.worldbank.org/ EDUCATION/Resources/278200-1121703274255/1439264-1153425508901/Education_Vietnam_Development.pdf, September 18, 2016.
โฟกัส หรือ จุดโฟกัส (Focal Point)
§ ภาษาทางฟิสิกส์ หมายถึง จุดบนแกนของเลนส์หรือกระจกที่เป็นจุดรวมของรังสีขนานของแสงที่เกิดการหักเหเมื่อผ่านเลนส์ หรือเกิดการสะท้อนของรังสีขนานของแสงเมื่อตกกระทบทำให้จุดนั้นมีความชัดที่สุด ในทางสังคม หมายถึง ประเด็นที่เป็นที่สนใจ
จุดยุติ (End Point)
§ ภาษาทางเคมี หมายถึง จุดที่การทำปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นสมบูรณ์และมีสารใหม่เกิดขึ้นซึ่งอาจสังเกตได้จากการเปลี่ยนสีของสาร
|
|
ขอบคุณที่มาจาก โครงการ PISA ประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
Advertisement
เปิดอ่าน 10,561 ครั้ง เปิดอ่าน 7,649 ครั้ง เปิดอ่าน 11,105 ครั้ง เปิดอ่าน 44,352 ครั้ง เปิดอ่าน 75,082 ครั้ง เปิดอ่าน 18,760 ครั้ง เปิดอ่าน 9,011 ครั้ง เปิดอ่าน 7,585 ครั้ง เปิดอ่าน 8,808 ครั้ง เปิดอ่าน 12,897 ครั้ง เปิดอ่าน 12,214 ครั้ง เปิดอ่าน 8,356 ครั้ง เปิดอ่าน 8,969 ครั้ง เปิดอ่าน 44,671 ครั้ง เปิดอ่าน 35,868 ครั้ง เปิดอ่าน 12,254 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 21,454 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 68,294 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 12,254 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 13,085 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,931 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 61,852 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 11,633 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 28,203 ครั้ง |
เปิดอ่าน 21,074 ครั้ง |
เปิดอ่าน 30,933 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,753 ครั้ง |
เปิดอ่าน 45,189 ครั้ง |
|
|