คสร.ค้านคลังเตรียมยกงบ 7 หมื่นล้านให้ธุรกิจประกันภัยดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ เชื่อกระทบระบบ รพ.รัฐ เสนอให้ราชการบริหารเอง ไม่ใช่เอื้อประโยชน์เอกชน กรมบัญชีกลางต้องปรับปรุงระบบสิทธิประโยชน์ ใช้ยาสมเหตุสมผล
วันที่ 7 ธ.ค. ที่ห้องประชุมศศนิเวศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครือข่ายปฏิรูประบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (คสร.) จัดแถลงข่าว "คัดค้านกระทรวงการคลังเตรียมยกงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาทให้ธุรกิจประกันภัยดูแลสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ" โดยมีอดีตผู้บริหารภาครัฐ เป็นข้าราชการบำนาญเข้าร่วมแถลงครั้งนี้ นพ.มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และตัวแทน คสร. กล่าวว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยอมรับว่าได้เตรียมการในการนำเรื่องการโอนเงิน 7 หมื่นกว่าล้านไปให้ธุรกิจประกันภัยบริหารจัดการเรื่องค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว โดยย้ำว่าจะไม่มีการลดสิทธิใดๆ และไม่เพิ่มงบประมาณของประเทศ สิ่งที่เราไม่สามารถรับได้เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องการบริหาร พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถยนต์ พ.ศ.2535 โดยบริษัทเอกชนนอกจากมีค่าบริหารจัดการแล้ว ยังต้องการกำไรอีก อีกทั้งผู้ประสบภัยจากรถพบปัญหามากมายในการเบิกเงินจนต้องเบิกจากสิทธิอื่นๆ ทั้งสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิข้าราชการ และสิทธิประกันสังคม จาก พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถ ทางบริษัทเอกชนรับไปกว่าร้อยละ 40
"หากยังให้บริษัทเอกชนมาบริหารงบประมาณการรักษาพยาบาลของข้าราชการอีก การเบิกจ่ายคงมีปัญหาเช่นเดียวกัน งบประมาณกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณ 7 หมื่นกว่าล้านบาท หากคิดค่าบริหารจัดการให้ธุรกิจประกันภัย คิดขั้นต่ำร้อยละ 10 หรือประมาณ 7,200 ล้านบาท งบส่วนนี้แทนที่จะถูกส่งไป รพ.รัฐ ซึ่งเป็นงบหมุนเวียนกันอยู่กลับต้องไปที่เอกชน หากถูกคิดค่าบริหารจัดการถึงร้อยละ 40 เงินจะหายจากระบบเท่าไร แน่นอนว่า รพ.รัฐต้องประสบปัญหาแน่ๆ ยิ่ง รพ.ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องอยู่แล้ว ดังนั้น เราต้องช่วยกันปิดกั้น อย่าสิ่งที่ไม่ถูกต้องเกิดขึ้น การบอกว่าผ่านการประชุมแล้ว พร้อมเสนอ ครม. ไม่ถูกต้อง ที่ผมกลัวคือ กลัวจะใช้มาตรา 44 ออกกฎหมาย หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น" นพ.มงคลกล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการทำหนังสือทักท้วงหรือไม่ นพ.มงคลกล่าวว่า ทางที่ดีที่สุด ข้าราชการที่มีสิทธิ รวมทั้ง รพ. โดยเฉพาะ รพ.สธ. รวมทั้งระบบสุขภาพอื่นๆ ต้องลุกมาต่อต้าน หากยอม เกิดปัญหาแน่ อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเกิดจากความบกพร่องของการบริหารจัดการของกรมบัญชีกลางที่ไม่มีระบบตรวจสอบการให้สิทธิและการบริการสิทธิประโยชน์เลย เมื่อเกิดปัญหา มีค่าบริหารจัดการ กลับแก้ไขโดยการโยนให้เอกชนทำ
นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหามาจากงบประมาณพุ่งสูง ทำให้ต้องโยนให้ธุรกิจประกันภัยไปดำเนินการ ต้องถามว่าเกาถูกที่คันแล้วหรือไม่ สิ่งสำคัญของปัญหาสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการต้องไปดูต้นเหตุว่ามาจากอะไร ยกตัวอย่าง กรมบัญชีกลางเคยเรียกเงินคืนจาก รพ.แห่งหนึ่ง เพราะพบว่าสั่งจ่ายยาให้คนไข้มากเกินความจำเป็น เป็นยานอกบัญชียาหลัก ราคาแพง กรมบัญชีกลางสามารถตรวจสอบบัญชีการใช้ยาต่างๆ ให้เหมาะสมได้ ทางออกคือ วิเคราะห์ปัญหา และให้ข้าราชการ สถาบันวิชาการ รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) มาร่วมกันศึกษาว่าจะหาทางออกกันอย่างไร
ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอเรื่องดังกล่าวโดยไม่สอบถามความคิดเห็นจากข้าราชการผู้มีสิทธิ ซึ่งปัญหาการใช้จ่ายยาไม่สมเหตุสมผลของสิทธิข้าราชการนั้น จะพบปัญหาที่ผู้ป่วยนอก เพราะผู้ป่วยในจะมีการควบคุมการใช้จ่ายยาตามกลุ่มโรค หรือดีอาร์จี ทั้งนี้ เคยมีข้อเสนอบันได 8 ขั้นแก้ปัญหา อาทิ กรมบัญชีกลางประกาศใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล โดยกำหนดให้มีการส่งเหตุผลการใช้ยาเยอะใน รพ.ที่ใช้ยาเกินกำหนด การกำหนดให้ทุก รพ.ใช้ยาชื่อสามัญแทนยาต้นแบบ เป็นต้น ดังนั้น กรมบัญชีกลางต้องปรับปรุงระบบสิทธิประโยชน์ให้สมเหตุสมผล และควรแยกหน่วยงานอิสระในการติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ หากไม่สามารถทำได้ก็อาจให้ สปสช. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หรือให้หน่วยอิสระกลางแห่งใดมาทำก็ได้ ทั้งนี้ ค่าบริหารจัดการ หากเป็นภาครัฐ อย่าง สปสช. คิดค่าบริหารจัดการเพียงประมาณ 1% แต่เอกชนน่าจะเกิน 25%
นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กล่าวว่า ตนเคยทำงานที่ สคบ. พบการร้องเรียนมากมาย ทั้งเรื่องการประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุ มีค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้ ข้าราชการไทยส่วนมากไม่ได้มีฐานะร่ำรวย และปัจจุบันสิทธิข้าราชการลดน้อยลง ไม่สามารถเบิกยาบางตัวได้ หากให้ธุรกิจเอกชนบริหารจะกระทบต่อผู้มีสิทธิในการเบิกจ่าย ควรให้ข้าราชการบริหารระบบ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์แก่เอกชน อย่างไรก็ตาม หากมอบให้ สปสช.เป็นผู้บริหารมีข้อได้เปรียบ เพราะบุคลากรมีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการระบบ.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 8 ธันวาคม 2559