เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้นำเสนอข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 499/2559 เรื่อง แถลงข่าวผลการประเมิน PISA 2015 ซึ่งมีข้อมูลเกี่ยวกับผลการประเมิน "โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ" (Programme for International Student Assessment : PISA) ประจำปี 2015 มีรายละเอียดดังนี้
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จัดงานแถลงข่าวผลการประเมิน "โครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ" (Programme for International Student Assessment : PISA) ประจำปี 2015 โดยมี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการแถลงข่าว เมื่อวันพุธที่ 7 ธันวาคม 2559 ที่ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยมี ม.ล.ปริยดา ดิศกุล ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายธัชชัย สุมิตร ประธานกรรมการ สสวท., นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท., นางสุนีย์ คล้ายนิล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท. รวมทั้งผู้บริหารองค์กรหลัก และสื่อมวลชน เข้าร่วมการแถลงข่าวกว่า 100 คน
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เปิดเผยว่า จากการที่ สสวท.ได้เข้าร่วมกับ OECD (Organisation for Economic Co-operation and Development) ตามโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือ PISA เพื่อเป็นการประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ ที่จะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เยาวชนมีศักยภาพสำหรับการแข่งขันในอนาคต ซึ่งได้จัดการประเมินเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.2000 และได้ประเมินอย่างต่อเนื่องทุก ๆ 3 ปี โดยในปี ค.ศ.2015 มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการ 72 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ (ประเทศกลุ่ม OECD 35 ประเทศ, ประเทศเข้าร่วม 37 ประเทศ) และเป็นการจัดสอบด้วยคอมพิวเตอร์เต็มรูปแบบ (Computer-Based Assessment : CBA) เป็นครั้งแรก โดยมีผลการประเมิน PISA 2015 ดังนี้
● ผลประเมินภาพรวมของประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนสูงสุด 5 อันดับในแต่ละด้าน
- ด้านวิทยาศาสตร์ ได้แก่
- สิงคโปร์ 556 คะแนน,
- ญี่ปุ่น 538 คะแนน,
- เอสโตเนีย 534 คะแนน,
- จีนไทเป 532 คะแนน,
- ฟินแลนด์ 531 คะแนน
ตามลำดับ
- ด้านการอ่าน ได้แก่
- สิงคโปร์ 535 คะแนน,
- แคนาดา 527 คะแนน,
- ฮ่องกง-จีน 527 คะแนน,
- ฟินแลนด์ 526 คะแนน,
- ไอร์แลนด์ 521 คะแนน
ตามลำดับ
- ด้านคณิตศาสตร์ ได้แก่
- สิงคโปร์ 564 คะแนน,
- ฮ่องกง-จีน 548 คะแนน,
- มาเก๊า-จีน 544 คะแนน,
- จีนไทเป 542 คะแนน,
- ญี่ปุ่น 532 คะแนน
ตามลำดับ
● ผลประเมินประเทศไทย
จากการเก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มตัวอย่างอายุ 15 ปี จำนวน 8,249 คน ใน 273 โรงเรียนทุกสังกัดการศึกษา เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 โดยใช้แบบทดสอบประเมินความสามารถในการใช้ความรู้และทักษะ ด้านวิทยาศาสตร์ การอ่าน และคณิตศาสตร์ พร้อมทั้งแบบสอบถามนักเรียนและผู้บริหารโรงเรียน
ซึ่งผลการประเมิน PISA 2015 ของประเทศไทยพบว่า มีคะแนนเฉลี่ยด้านวิทยาศาสตร์ 421 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน), ด้านการอ่าน 409 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน) และด้านคณิตศาสตร์ 415 คะแนน (ค่าเฉลี่ย OECD 490 คะแนน)
● ผลประเมินประเทศอาเซียน
มีประเทศอาเซียนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม แต่คะแนนของประเทศมาเลเซียจะไม่ถูกนำมาเปรียบเทียบ เนื่องจากอัตราการเข้าสอบน้อยกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีผลการจัดอันดับการประเมินตามลำดับคือ สิงคโปร์ เวียดนาม ไทย และอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ เมื่อได้วิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคะแนนในภาพรวม ตั้งแต่การประเมินรอบแรกจนถึงรอบปัจจุบัน พบว่าผลการประเมินด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ต่างจากการประเมินรอบที่ผ่าน ๆ มามากนัก คงจะมีเพียงคะแนนด้านการอ่านเท่านั้นที่น่าเป็นห่วง ซึ่งคาดว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการเปลี่ยนรูปแบบการทดสอบจากใช้กระดาษกับปากกา เป็นระบบทดสอบการอ่านผ่านทางคอมพิวเตอร์แบบเต็มรูปแบบ ทำให้เด็กบางส่วนไม่มีความคุ้นเคยกับรูปแบบการสอบเช่นนี้ แต่ไม่ใช่อ่านไม่เข้าใจ
อย่างไรก็ตาม ได้รายงานผลการประเมินรอบนี้ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รับทราบแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้แสดงความห่วงใยต่อคะแนนที่ได้ พร้อมเร่งให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการแก้ปัญหาโดยเร็ว โดยส่วนตัวรู้สึกไม่พอใจกับคะแนนที่ออกมามากนัก แต่ต้องยอมรับว่าคะแนนซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา จะเห็นได้จากคะแนนของกลุ่มโรงเรียนที่มีความโดดเด่นด้านวิทยาศาสตร์และกลุ่มโรงเรียนสาธิต ที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยทุกวิชาสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลาง PISA โดยเฉพาะกลุ่มโรงเรียนที่เน้นวิทยาศาสตร์ ที่มีคะแนนสูงในระดับเดียวกับกลุ่มบนสุด 5 อันดับแรก และมีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าสิงคโปร์ (มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดอันดับหนึ่งของ PISA ในทุกวิชา) ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์ (567 คะแนน) และด้านการอ่าน (537 คะแนน) ส่วนคะแนนด้านคณิตศาสตร์ (556 คะแนน) ยังเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ และในกลุ่มโรงเรียนสาธิตยังมีคะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD คือ ด้านวิทยาศาสตร์ 510 คะแนน ด้านการอ่าน 494 คะแนน และด้านคณิตศาสตร์ 503 คะแนน ในขณะที่กลุ่มโรงเรียนอื่น ๆ ยังคงมีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD
ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงจะนำผลสะท้อนจากคะแนน PISA มาใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยได้เตรียมแนวทางที่จะยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมมุ่งสู่เป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ในร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574 ว่าภายใน 15 ปีข้างหน้าจะเร่งพัฒนาคะแนนการประเมิน PISA ของประเทศไทยทุกด้านให้เพิ่มขึ้น 100 คะแนน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต การผลิตและพัฒนาครูให้มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับทักษะในศตวรรษที่ 21 การพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนการสอน ตลอดจนการวัดและประเมินผลอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี : ถ่ายภาพ
7/12/2559
ขอบคุณที่มาจาก ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ 7/12/2559