สภาการศึกษาเสนอยุทธศาสตร์ปั้นคนดิจิตอล 4.0บูรณาการอาชีวะ-อุดมศึกษาตอบโจทย์ประเทศ
วันนี้ (29พ.ย.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) จัดการประชุม “สภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum)” ครั้งที่ 12เรื่อง บทบาทการศึกษากับการก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า สกศ. ได้นำเสนอยุทธศาสตร์การศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ประเทศไทย 4.0เพื่อชี้นำกระบวนการก้าวผ่านประเทศไทยจากยุค 3.0 ไปสู่ยุค 4.0โดยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง ลดความเหลื่อมล้ำ และลดการใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย หันมาสร้างความมั่นคงผ่าน การบ่มเพาะธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี การออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ และพัฒนาทักษะและงานใหม่ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดย่อม(SMEs)เข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในเวทีโลกการยกระดับขีดความสามารถ การเสริมสร้างทักษะและการเติมเต็มศักยภาพของประชาชนให้ทันกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก และปรับแนวคิดจากเดิมที่คำนึงถึงความได้เปรียบเรื่องต้นทุน เป็นการคำนึงถึงประโยชน์ที่ได้จากการลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นทั้งระบบ
ดร.กมล รอดคล้าย กล่าวว่า สกศ. จัดทำข้อเสนอการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนสู่ประเทศไทย 4.0ระยะเร่งด่วน 1-3 ปี ที่สามารถดำเนินการได้ทันที และสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2574ประกอบด้วย 1.เสริมสร้างศักยภาพผู้มีความสามารถพิเศษ โดยเร่งรวบรวม จัดระบบข้อมูลผู้มีความสามารถ พิเศษ อบรม พัฒนาขีดความสามารถขั้นสูง มอบหมายโครงงานสร้างนวัตกรรมตามความต้องการของประเทศ 2.พัฒนากำลังคนระดับอาชีวศึกษา คัดเลือกสถาบันอาชีวศึกษาที่มีความพร้อมเปิดสอนหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของประเทศ เน้นการเรียนรู้ที่นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการและผู้ปฏิบัติงานรองรับอุตสาหกรรมอนาคต หรือ New S-curve ที่เป็นฐานผลิตใหม่ของประเทศ พัฒนาองค์ความรู้กับหน่วยงานหรือผู้ประกอบการทุกประเภท และ 3.สร้างระบบวิจัยและพัฒนา ต่อยอดสู่ระดับอุดมศึกษา โดยมอบหมายภารกิจให้มหาวิทยาลัยที่มีความพร้อม และ มีความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ รับผิดชอบการผลิตบัณฑิตสอดรับทิศทางการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0จัดระบบสนับสนุนทุนการศึกษา งบประมาณ เชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและภาคการผลิตที่มีนวัตกรรมขั้นสูง รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาโดยรัฐและเอกชนร่วมลงทุนสนับสนุนโครงการวิจัยที่สร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องทิศทางการพัฒนาประเทศให้พ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลางสู่การเป็นประเทศพัฒนาแล้ว
“นอกจากนี้แล้ว ยังคงต้องพัฒนากำลังแรงงานปัจจุบันให้มีทักษะแห่งอนาคตที่เข้มแข็ง ตลอดจนควรเพิ่มความสำคัญกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณอายุแล้ว แต่ยังมีประสบการณ์สูงเป็นผู้ประกอบการ หรือเป็นคลังสมองเพื่อให้ความรู้แก่คนรุ่นหลังให้มีทักษะเชี่ยวชาญเพิ่มขึ้นในการทำงาน ทั้งนี้ เพื่อพัฒนากำลังคนตรงตามความต้องการของประเทศ ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีเพื่อรองรับอุตสาหกรรมอนาคต”เลขาธิการสภาการศึกษากล่าว
ด้าน ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ทิศทางการพัฒนาการศึกษาที่ดี เป็นการสร้างจุดเปลี่ยนการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจึงจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อเตรียมคนไทย และยังต้องพัฒนาทักษะที่จำเป็นที่มากกว่าทักษะการเรียนพื้นฐานแบบเดิม โดยเน้นดึงจุดเด่นเฉพาะคนทันการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล สามารถใช้ประโยชน์จากความรู้และข้อมูลมหาศาลได้สอดรับและเชื่อมโยงกับการพัฒนาความเจริญของมนุษย์ หันมาพัฒนาทักษะที่มีความสำคัญมากกว่าเนื้อหา กระบวนการเรียนรู้มีความยืดหยุ่น ไม่ติดกรอบความคิดหรือหลักสูตร บูรณาการความรู้กับชีวิตได้ การใช้ประโยชน์ความรู้สำคัญกว่าใบปริญญา กระบวนการคิดสำคัญกว่าการท่องจำ เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสนับสนุนการเรียนรู้และพัฒนาที่สำคัญกว่าการเรียนรู้ในห้อง
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน 2559