คลังชง ครม. ให้ "บริษัทประกัน" บริหารจัดการค่ารักษาพยาบาล ขรก.หลังถกลงตัว 3 ข้อ "สิทธิประโยชน์ไม่ลด-งบฯไม่เกิน 7 หมื่น ล./ปี-บริการดีขึ้น" ดีเดย์ปี 61 เอกชนเตรียมลงขันกว่า 1 พันล้าน วางระบบข้อมูล พร้อมแบ่งสัดส่วนรับประกัน
นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เห็นชอบหลักการให้บริษัทประกันเข้าบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเบื้องต้นแล้ว เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบจะเริ่มดำเนินการปีงบประมาณ 2561 เชื่อว่าจะช่วยลดการรั่วไหลเรื่องค่ารักษาพยาบาลลงได้
โดยบริษัทประกันจะรวมตัวกันเข้าบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการทั้งหมดกรอบไม่เกิน7 หมื่นล้านบาท/ปี ระยะแรกยังเป็นการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลของรัฐก่อน
แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า หลัง รมว.คลัง ประชุมร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และสมาคมประกันชีวิต เมื่อ 23 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปแนวทางให้บริษัทประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ โดยสมาคมประกันวินาศภัยได้นำเสนอตามโจทย์ที่ให้ไป 3 เรื่อง คือ 1) สิทธิประโยชน์ข้าราชการต้องไม่ลดลง 2) กรอบงบประมาณไม่เกินปีละ 7 หมื่นล้านบาท 3) ข้าราชการต้องได้รับบริการที่ดีขึ้น
ทางสมาคมประกันวินาศภัยยืนยันว่า สามารถดำเนินการได้ในกรอบวงเงินค่าเบี้ยประกันไม่เกิน 7 หมื่นล้านบาท/ปี ซึ่งกำลังเจรจาต่อรองให้ลดลงอีก อย่างไรก็ดี จำนวนเงินดังกล่าวไม่รวมค่าใช้จ่ายการให้บริการ ที่เอกชนจะจัดหาทีมแพทย์คัดกรองข้าราชการที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในแต่ละโรงพยาบาล เพื่อจำแนกอาการป่วยก่อนส่งต่อ
นอกจากนี้ ธุรกิจประกันจะลงขันกันกว่า 1,000 ล้านบาท วางระบบไอทีฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เนื่องจากปัจจุบันข้อมูลการรักษาข้าราชการแยกอยู่กับโรงพยาบาลแต่ละแห่ง ขณะเดียวกันจะจัดทำบัตรประจำตัวข้าราชการแต่ละรายเหมือนกับบัตรประจำตัวประชาชน
"การมีฐานข้อมูล และบัตรประจำตัวในการรักษาพยาบาล จะช่วยให้ลดการโกงค่ารักษาพยาบาลได้ ซึ่ง 1-2 ปีแรก การรักษาพยาบาลจะยังเหมือนเดิม แต่ต่อไปจะขยายไปสู่โรงพยาบาลเอกชนด้วย"
หลังจากนี้ เอกชนซึ่งอาจร่วมกันทั้งฝั่งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย จะแบ่งสัดส่วนกันการทำประกันข้าราชการ ว่าแต่ละบริษัทจะรับในสัดส่วนเท่าใดเพื่อกระจายความเสี่ยง เนื่องจากบริษัทรับประกันภัยต่อ (รีอินชัวเรอร์) จะไม่รับประกันภัยต่อแบบทั้งพอร์ต 6-7 หมื่นล้านบาท
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 29 พ.ย. 2559