สอศ.เตรียมนำร่องโครงการเตรียมอาชีวะ รับเด็กจบ ป.6 มาเรียนในวิทยาลัยที่มีความพร้อม "สุเทพ" เผยวางแผนหารือสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพให้ได้รับเงินเดือนมากกว่าจบ ม.3 ใช้วิธีแลกเปลี่ยนครูร่วมกับ กศน. ฟื้นโครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท พัฒนาแรงงานไร้ฝีมือโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เล็งเสนอ "บิ๊กหนุ่ย" ธันวาคมนี้
นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะทำงานกำหนดแนวทาง "เตรียมอาชีวะ" เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางการเพิ่มผู้เรียนสายอาชีพตามนโยบายรัฐบาลที่ระบุว่า ในอีก 15 ข้างหน้าที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนระหว่างสายสามัญร้อยละ 40 และสายอาชีพร้อยละ 60 ซึ่งการดำเนินงานเรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) มีหลายแนวทาง เช่น การจัดหลักสูตรทวิศึกษา การจัดการศึกษาทวิภาคีในสถานศึกษาอาชีวะ เป็นต้น และจากนี้ สอศ.ได้เตรียมที่จะจัดโครงการเตรียมอาชีวะ ซึ่งโครงการนี้เป็นการนำเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้ามาเรียนพื้นฐานในวิทยาลัยอาชีวะ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมาเรียนสายอาชีพเพิ่มมากขึ้น โดยผู้เรียนที่สำเร็จการศึกษาจะได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้น (ปวต.) ทั้งนี้ จะเริ่มนำร่องในวิทยาลัยที่มีความพร้อมก่อน
"ผมเตรียมหารือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เพื่อขอให้นักเรียนที่สำเร็จจากโครงการเตรียมอาชีวะมีเงินรายได้มากกว่าผู้ที่เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อีกทั้งผู้ที่มาเรียนโครงการนี้จะได้รับการันตีการมีงานทำอย่างแน่นอน ส่วนหลายฝ่ายกังวลว่าจะมีครูผู้สอนไม่เพียงพอ โดยเฉพาะวิชาสามัญ เพราะไม่สามารถเปิดอัตราขอครูผู้ช่วยได้ ผมเสนอที่ประชุมอาจใช้วิธีการยืมครูจากครู กศน.มาช่วยสอนวิชาพื้นฐาน ซึ่งเชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะปัจจุบันอาชีวะได้ส่งครูไปช่วยสอนอาชีพอยู่แล้ว เหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนครู" เลขาฯ กอศ.กล่าว
นายสุเทพกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังได้มีการรื้อฟื้นโครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท สำหรับประชาชนวัยทำงานด้านอาชีพทุกสาขาด้วย โดยจะรับผู้จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) พิเศษ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้พัฒนาแรงงานไร้ฝีมือ ให้มีฝีมือและมีความรู้พื้นฐานทางอาชีพ ทั้งนี้ แนวทางการเพิ่มผู้เรียนอาชีวะทั้งหมดจะทำให้ สอศ.มีจำนวนผู้เรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 คน และยังสามารถยกระดับวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีอยู่ประมาณ 301 แห่งไปสู่วิทยาลัยขนาดกลางได้ ซึ่งจะส่งผลให้วิทยาลัยเหล่านี้ได้รับการอุดหนุนเงินรายหัวเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะนำไปพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนสายอาชีพได้ อย่างไรก็ตาม แนวทางต่างๆ คณะทำงานจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) พิจารณาต่อไป.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2559