CHES วอน สกอ.หยุดดันกฎหมายระเบียบการบริหารงานบุคคลฯ ขู่ไม่เชื่อจะประท้วง-ฟ้องศาลปกครอง เผยปัญหาพนักงานมหา'ลัยอยู่ที่เรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล แนะใช้โมเดล สปสช.ชี้ใช้ประกันสังคมไม่ได้ขัดกฏหมาย
วันนี้( 22 พ.ย.)รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ เลขาธิการศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือ CHES กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)จะผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ว่า ประชาคมอุดมศึกษาต่อต้านร่างกฎหมายฉบับนี้มาหลายปีแล้ว เพราะมองว่ากฏหมายดังกล่าวจะให้โทษมากกว่าให้คุณ อีกทั้งผู้มีส่วนได้เสียที่แท้จริงก็ไม่ได้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และในการทำประชามติหลายครั้งก็ไม่ผ่าน ซึ่งส่วนหนึ่งเพราะเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล และ CHES ก็เคยประสานงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เพื่อให้ช่วยดำเนินการจัดทำต้นแบบกองทุนสุขภาพ ที่ล้อกับระบบราชการ ซึ่ง สปสช.เคยทำให้แก่กลุ่มพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) จนสามารถเบิกจ่ายระบบจ่ายตรงที่โรงพยาบาลได้เหมือนระบบราชการ
“ สกอ.และ สปสช.เคยตกลงเรื่องจัดทำต้นแบบกองทุนสุขภาพกันแล้ว แต่เกิดการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารจึงก็ไม่ได้ผลักดันต่อ แล้วก็มาผลักดันร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารงานบุคคลฯ ฉบับ สกอ. ที่จะให้มหาวิทยาลัยไปจัดตั้งกองทุนสุขภาพกันเอง ซึ่งไม่น่าจะเป็นผลดี อย่างไรก็ตามหาก สกอ.ยังยืนยันที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ให้สุดซอยCHESก็จะเป็นแกนนำในการทักท้วงและอาจถึงขั้นต้องมีการประท้วง และฟ้องศาลปกครองต่อไป”รศ.ดร.วีรชัย กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการCHES กล่าวว่า ถ้าจะให้พนักงานและลูกจ้างในสถาบันอุดมศึกษามาอยู่ภายใต้กฏหมายประกันสังคมนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะขัดกับพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 4ที่ระบุไม่ใช้บังคับกับข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราวรายวัน และลูกจ้างชั่วคราวรายชั่วโมงของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ยกเว้นลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน เพราะฉะนั้นแนวทางที่เหมาะสมกับพนักงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ คือ การจัดตั้งกองทุนสุขภาพ
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 22 พฤศจิกายน 2559