คอลัมน์ เลาะเลียบคลองผดุงฯ: ควบรวม ร.ร.ขนาดเล็ก
ตุลย์ ณ ราชดำเนิน
Tulacom@gmail.com
ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พบว่าโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ.จำนวน 15,577 โรงเรียนมีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ซึ่งในจำนวนกว่าครึ่งนักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่ามาตรฐาน แถมต้นทุนการเรียนการสอนยังสูงกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ตามด้วยโรงเรียนไม่มีผู้บริหาร
ยกอ้างนโยบายและยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง การรวมร.ร.ขนาดเล็ก เป็นการตอบสนองต่อมาตรการบริหารจัดการนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ตามมติครม.เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ว่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดความสูญเปล่าของโรงเรียนขนาดเล็ก เป็นสำคัญ
เน้นว่า การควบรวมร.ร.ขนาดเล็กให้อยู่บนมาตรการที่ เหมาะสม เมื่อควบรวมแล้วต้องปรับปรุงประสิทธิภาพ สร้างเครือข่ายให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในการจัดการศึกษาอย่างจริงจัง
แต่เท่าที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ไปพูดกันถึงการยุบโรงเรียนขนาดเล็กมากกว่าการพูดถึงควบรวม มิหนำซ้ำยังมีการเสนอใช้มาตรการจัดการโรงเรียนที่ชุมชนไม่ยอมให้ยุบ ด้วยการจะไม่จัดสรรงบฯและอัตราครูลงไปให้ เท่ากับทำให้เกิดแรงต้านทุกครั้งที่มีการพูดถึงเรื่องนี้
เพราะถูกมองว่า ศธ.มองแค่ลดต้นทุนเพียงอย่างเดียว และไปก้าวก่ายสิทธิชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียน ไม่คำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่และไม่จริงใจที่จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้เท่าเทียมกัน
ความจริงแล้ว การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กหากจะมีการ กระจายอำนาจให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตัดสินใจกับองค์กรปกครองในท้องถิ่น ในการจ้างครูและดูแลการดำเนินงานของโรงเรียน โดยยึดมาตรฐานคุณภาพที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และอุดหนุนงบฯ ส่วนเพิ่ม น่าจะลดการควบรวมได้มิใช่น้อย
เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะมีข้อมูลข้อดี-ข้อเสียในการควบรวมโรงเรียนและข้อมูลความคิดเห็นของพ่อแม่ผู้ปกครองและประชาชน ซึ่งอาจจะผู้สนับสนุนเกินกว่าที่คิด เพราะรับรู้และตระหนักถึงสภาพปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชนที่มีลูกหลานของตนเองเรียนอยู่นั้นเป็นเช่นไร
มาถึง ณ เวลา น่าจะเป็นโอกาสดีที่ ศธ.กับกระทรวงมหาดไทย จะหันหน้าคุยกันจะช่วยกันพัฒนาคุณภาพการศึกษาของชาติได้อย่างไร ไม่ว่าจะเรียกว่าการควบรวมหรือยุบก็ตาม
ขอบคุณที่มาจาก ข่าวสด วันที่ 14 พ.ย.2559