“สุภิญญา” เผยกระทรวงศึกษาเร่ง กสทช. ขอทำโทรทัศน์บริการสาธารณะช่องเพื่อการศึกษา ชี้ต้องกำหนดเกณฑ์คัดเลือกผู้เหมาะสม
นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่าได้รับหนังสือจาก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มาถึง กสทช. ว่าขอให้มีการจัดสรรคลื่นความถี่ในการทำโทรทัศน์ระบบดิจิทัลช่องการศึกษาอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและสร้างความเสมอภาคให้กับประชาชน รวมทั้งส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิตและสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 63 ระบุให้ รัฐต้องจัดสรรคลื่นความถี่ สื่อตัวนำและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ วิทยุโทรคมนาคม และการสื่อสาร รูปอื่นๆ เพื่อใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรมตามความจำเป็น
ปัจจุบันกระทรวงศึกษาได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการผ่านดาวเทียมในระบบเคยูแบนด์ ช่องรายการ ETV ซึ่งจะหมดอายุวันที่ 27 ม.ค. 2564 และเห็นว่าการให้บริการผ่านโทรทัศน์ดาวเทียมเช่นนี้ทำให้ผู้รับจำเป็นต้องมีอุปกรณ์การรับสัญญาณ ทำให้นักเรียน นักศึกษาและประชาชนที่ขาดแคลนอุปกรณ์ไม่สามารถรับบริการได้อย่างสะดวกและทั่วถึง กระทรวงศึกษาธิการจึงจะขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อให้บริการด้านศึกษา ซึ่งเป็นประเภทบริการสาธารณะ ที่ กสทช. กำหนดให้มีทั้งหมด 12 ช่อง และจัดสรรไปแล้วเพียง 4 ช่องเท่านั้น
กระทรวงศึกษาธิการเห็นว่าหากได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ตอลดชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เท่าเทียม และมีคุณภาพทั่วประเทศ รวมทั้งมั่นใจและมีความพร้อมอย่างเต็มที่จากประสบการณ์การบริหารสถานีโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ETV มากว่า 20 ปี
“ที่ผ่านมา กสทช. ได้รับการติดต่อมาจาก MORE TV ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีความประสงค์ที่จะขอรับการจัดสรรโทรทัศน์ประเภทบริการสาธารณะ ช่องการศึกษาเช่นกัน โดยมีแผนการบริหารสถานีโทรทัศน์ รวมทั้งผลิตรายการตัวอย่าง เพื่อรอการจัดสรรคลื่นในช่องดังกล่าว ถ้า กสทช. เปิดให้มีการจัดสรรคลื่นเพื่อการศึกษา แล้วมีหลายองค์กรให้ความสนใจ ทั้งกระทรวงศึกษา เครือข่ายมหาวิทยาลัย หรืออื่นๆ ก็เป็นโจทย์ที่ กสท.ต้องพิจารณาว่าจะจัดสรรคลื่นอย่างไรเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน เพราะการศึกษาเรียนรู้ตลอดชีวิตควรเป็นวาระแห่งชาติโดยเฉพาะในยุคดิจิทัลที่สื่อและการศึกษาควรมีบทบาทให้เด็ก เยาวชน ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อ" นางสาวสุภิญญากล่าว
ทั้งนี้ กสท. กำหนดช่องรายการสำหรับกิจการบริการสาธารณะโทรทัศน์ระบบดิจิทัล จำนวน 12 ช่องรายการ โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว 1 ราย คือ ช่อง 10 รัฐสภา และมีกลุ่มผู้ประกอบการรายเดิม จำนวน 3 ช่องที่ได้รับสิทธิออกอากาศคู่ขนาน (simulcast) จนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้ความถี่อนาล็อกเดิม 3 ช่อง คือ ช่อง5 (กองทัพบก) ช่อง11 (กรมประชาสัมพันธ์) และไทยพีบีเอส
นอกจากนี้ยังมีช่องที่รอการจัดสรรอีก 8 ช่อง คือ ช่องที่ 5 เพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ช่องที่ 6 เพื่อส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม การเกษตร และการส่งเสริมอาชีพ ช่องที่ 7 เพื่อส่งเสริมสุขภาพ อนามัย กีฬา หรือการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ช่องที่ 8 วัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐ ช่องที่ 9 เพื่อความปลอดภัยสาธารณะ ช่องที่ 11 เพื่อสนับสนุนการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชน เกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ ช่องที่ 12 เพื่อบริการข้อมูลข่าวสารสาธารณะ แก่ คนพิการ คนด้อยโอกาส เด็กและเยาวชน โดย กสทช.จะให้ใบอนุญาตครั้งแรก 4 ปี จากนั้นเมื่อครบ 4 ปี จะพิจารณาต่อใบอนุญาตไม่เกิน 15 ปี
ขอบคุณที่มาจาก กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2559