“ดาว์พงษ์”ย้ำอีกฟื้นตกซ้ำชั้นปี 60 แต่ก่อนใช้ต้องมีมาตรการดูแลช่วยเหลือเด็ก ที่สำคัญต้องทำความเข้ากับผู้ปกครอง และไม่ใช่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของครูและผู้บริหาร อึ้งเด็ก ป.1โรงเรียนขนาดใหญ่อ่านเขียนไม่ได้
วันนี้( 11 พ.ย.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้สุ่มตรวจเยี่ยมโรงเรียนเพื่อติดตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) โดยไปที่โรงเรียนบ้านหมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี โดย พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมว่า โรงเรียนบ้านหมากแข้งซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ที่เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาขั้นปีที่ 6 มีนักเรียนจำนวน 3,000 คน แต่พบปัญหาที่น่าเป็นห่วงคือนักเรียน ชั้น ป.1 ยังอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งโรงเรียนบ้านหมากแข้งมีนักเรียน ชั้น ป.1 จำนวน 297 คน อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ถึง 65 คน ตนจึงได้สั่งการให้ผู้บริหารโรงเรียนและครูช่วยกันแก้ปัญหาโดยเร่งคัดแยกเด็กและมีมาตรการในการกวดขันดูแลเป็นพิเศษ เพราะเหลือเวลาอีกไม่ถึง 6 เดือนเด็กก็จะจบ ป.1 แล้ว ซึ่งเด็กทุกคนจะต้องอ่านออกเขียนได้ตามนโยบายของ ศธ.
รมว.ศธ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนนโยบายการเรียนซ้ำชั้นที่ตนมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ไปดำเนินการก็กำลังจะออกมา ถ้าโรงเรียนไม่ดูแลเด็กให้ดีก็จะเกิดการตกซ้ำชั้นจนเป็นปัญหาซ้ำซ้อนขึ้นมาอีก อย่างไรก็ตามการซ้ำชั้นจริงแล้วไม่ใช่นโยบายใหม่ สพฐ.มีนโยบายนี้อยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการนำมาใช้อย่างจริงจัง อาจเป็นเพราะครูและผู้บริหารห่วงเรื่องของตัวชี้วัดความสำเร็จของผลงาน หรือ เคพีไอ ซึ่งไม่ได้มีการนำเรื่องนี้มาใช้ตัดสินเคพีไอ แต่ถ้าพบว่าเด็กตกแล้วครูไม่สนใจที่จะแก้ไขปัญหา เรื่องนี้ต่างหากที่จะนำมาพิจารณา
"ผมตั้งใจว่าการเรียนซ้ำชั้นจะเริ่มในปีการศึกษา 2560 แต่ระหว่างนี้ก็ต้องมีขั้นตอนและมาตรการที่จะดูแลช่วยเหลือเด็ก ซึ่งได้มอบหมายให้ สพฐ.ไปดำเนินการ เพราะผมทำอะไรจะต้องได้รับการยอมรับก่อน โดยขอให้โรงเรียนไปทำความเข้าใจกับผู้ปกครองให้รับรู้ว่า เด็กเรียนอ่อนไม่ทันเพื่อนหากปล่อยไปจะเป็นปัญหาในอนาคต เชื่อว่าเมื่อผู้ปกครองเข้าใจก็จะยอมให้ซ้ำชั้น แต่ก่อนที่จะถึงจุดนั้นก็ต้องมีมาตรการช่วยเหลือเข้มข้นที่ไม่ใช่มาตรการแบบเก่า อย่างให้ส่งรายงานหรือขัดห้องน้ำแลกคะแนนแบบนี้ไม่เอา ทั้งนี้ผู้บริหารโรงเรียนจะต้องรู้ข้อมูลว่าเด็กที่ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในโรงเรียนมีเท่าไหร่ ซึ่งจะใช้เป็นตัวประเมินผู้บริหารด้วย" พล.อ.ดาว์พงษ์กล่าว
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า สพฐ.อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางและวิธีการที่จะช่วยเหลือเด็กที่ตกซ้ำชั้น โดยจะมีมาตรการเข้มข้น เช่น การสอนซ่อมเสริมอย่างจริงจัง จากนั้นก็ต้องมีการสอบวัดผลซ้ำ และต้องมีเครื่องมือที่เป็นกลางในการวัดเด็ก โดยให้จัดทำข้อสอบกลางของจังหวัดเพื่อใช้ประเมินเด็ก และใช้เป็นหลักฐานว่าเด็กได้รับการพัฒนาจริง อย่างไรก็ตาม รมว.ศธ.ได้ขอให้โรงเรียนให้ความสำคัญกับเด็กที่เรียนชั้นอนุบาล 2 เพื่อเป็นการเตรียมพื้นฐานของเด็กก่อนที่จะขึ้น ป.1 ด้วย
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2559