เผย"บิ๊กตู่" ขีดเส้น 3 เดือน ทำแผนขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ รองรับการยุคประเทศไทย 4.0ย้ำชัด 3 จุดเน้นในแผนการศึกษาแห่งชาติ 15 ปี
วันนี้ (9 พ.ย.) ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมพิจารณาร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี พ.ศ.2560-2574 ซึ่งมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้รับฟังข้อสรุปการปรับแก้ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ และเห็นชอบตามที่ สกศ.เสนอ โดยได้ให้นโยบายกำหนดจุดเน้นสำคัญในแผน 3 ประการ คือ ให้ความสำคัญกับเด็กกลุ่มพิเศษและการจัดการศึกษาในพื้นที่พิเศษ เช่น เด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กที่อาศัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เด็กในพื้นที่ชายขอบ และเด็กในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษต่างๆ รวมถึงการดูแลเด็กให้ปลอดยาเสพติด 2 กำหนดหน่วยงานภายนอกกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่รับผิดชอบให้ชัดเจน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อสอดคล้องกับการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ สามารถตอบสนองความต้องการด้านการศึกษาของคน ทุกช่วงวัย และมีศักยภาพสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาประเทศ และ 3.เน้นการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่าง 5องค์กรหลักของ ศธ. กับหน่วยงานต่างกระทรวงที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาที่มีมากถึง 54 หน่วยงาน ควรมีเอกภาพและทิศทางเดียวกันตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี
"รมว.ศธ.ได้กล่าวในที่ประชุมด้วยว่า ได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะนำเสนอร่างแผนการศึกษาแห่งชาติต่อคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือ ซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ให้ความเห็นชอบก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาต่อไปในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้รับทราบทิศทางของแผนฯ และ 7 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติแล้ว โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งการให้ ศธ. เตรียมประสานนำส่งแผนการศึกษาแห่งชาติไปยังหน่วยงานต่าง ๆ 54 หน่วยงาน ที่มีภารกิจด้านการจัดการศึกษาให้เร่งจัดทำแผนขับเคลื่อนด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติ รายงานต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 3 เดือน เพื่อเดินหน้าการศึกษาชาติในทิศทางเดียวกันรองรับการก้าวสู่ยุคประเทศไทย 4.0" เลขาธิการ สกศ.กล่าว
ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ ร่างแผนการศึกษาแห่งชาติ ระยะ 15 ปี มีเป้าหมาย 5 เรื่องสำคัญ คือ 1. การเข้าถึงการศึกษา 2.ความเท่าเทียมทางการศึกษา 3.คุณภาพการศึกษา 4.ประสิทธิภาพการศึกษา และ 5. การศึกษาที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของ ศธ. เช่น การพัฒนาหลักสูตรกระบวนการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การผลิตและพัฒนาครู การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอซีทีเพื่อการศึกษา และการบริหารจัดการ ซึ่ง พล.อ.ดาว์พงษ์ ได้ย้ำจุดเน้นทุกหน่วยงานร่วมกันพิจารณาแผนการจัดทำงบประมาณในลักษณะบูรณาการเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างการบูรณาการการศึกษาทั้งระบบทั่วประเทศ ครอบคลุมความเชื่อมโยงการทำงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน 2559