สพฐ.สอบความรู้"ครูวิทย์-คณิตม.ต้น"2หมื่นคน เปิดทางชวนครูสังกัดกทม.-สช.เข้าร่วมด้วย
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ มีนโยบายยกระดับคุณภาพการศึกษาให้สูงขึ้น และได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ยกระดับคุณภาพครูผู้สอนนั้น สพฐ.จะดำเนินการทดสอบวัดความรู้ครู โดยจะเริ่มจากครูผู้สอนในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ช่วงชั้นที่ 3 (มัธยมศึกษาปีที่ 1-3) ประมาณ 20,000 คนทั่วประเทศ ซึ่งเนื้อหาและบทเรียนที่ใช้ในการพัฒนา รวมถึงใช้ทดสอบความรู้ของครูนั้น สพฐ.ได้ร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) พัฒนาขึ้น
“ในช่วง 6 เดือนแรกตั้งแต่พฤศจิกายน 2559-เมษายน 2560 ครูทั้ง 20,000 คนต้องเข้ารับการพัฒนาตนเองเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องที่จะใช้ในการจัดการเรียนการสอน การออกข้อสอบให้แก่ผู้เรียน ผ่านระบบวิดีโอออนดีมานต์ ระบบการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาโดยยึดถือภารกิจและพื้นที่การปฏิบัติงานเป็นฐาน หรือ ทีอีพีอีออนไลน์ของ สพฐ. และเว็บไซต์ของ สสวท.จากนั้นในวันที่ 22 เมษายน 2560 ครูทั้ง 20,000 คนจะต้องเข้ารับการทดสอบวัดความรู้ด้วยระบบออนไลน์พร้อมกันทั่วประเทศ ในสนามสอบที่จัดขึ้นจังหวัดๆละ 2-3 สนามสอบ”ดร.บุญรักษ์ กล่าว
รองเลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อไปว่า ผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการทดสอบวัดความรู้เสร็จสิ้นนั้น ในระดับบุคคล ตัวครูผู้สอนจะได้รู้ตัวเองว่ามีความรู้ในวิชาที่ในระดับใด อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ มี 6 สาระ ระบบจะวิเคราะห์ให้ว่าครูมีความรู้ในแต่ละสาระนั้นๆดี ดีมาก พอใช้ หรือต้องปรับปรุงในเรื่องใด จะได้เป็นข้อมูลเพื่อวางแผนพัฒนาครูของเขตพื้นที่ฯ รวมถึงจะทำข้อมูลให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทำข้อมูลเปรียบเทียบในระดับจังหวัด ระดับภาคเพื่อให้เห็นภาพจุดใดต้องเร่งพัฒนาเพิ่มเติม จุดใดเป็นต้นแบบหรือเป็นแกนนำที่จะถ่ายทอดความรู้ได้
“เมื่อมีข้อมูลแล้ว สพฐ.ก็จะเร่งพัฒนาครูโดยจะใช้เวลา 1 ภาคเรียนประมาณเดือนพฤษภาคม-กันยายน 2560 เรื่องใดที่ครูสามารถพัฒนาได้ด้วยตนเองก็จะให้กลับไปเรียนผ่านระบบทีอีพีอี แต่เรื่องใดที่ยากจะให้มาอบรมเชิงปฏิบัติ จากนั้นในเดือนตุลาคม 2560 ก็จะให้มาทดสอบความรู้ซ้ำในเรื่องที่ไม่ผ่าน ส่วนคนที่มีผลการทดสอบดีจะคัดไว้เป็นครูต้นแบบถ่ายทอดเทคนิคการสอนต่อไป”ดร.บุญรักษ์ กล่าว
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ให้นโยบายว่าการยกระดับการศึกษาควรจะเป็นภาพเดียวกันทั้งประเทศ จึงได้มอบให้ สพฐ.ทำหนังสือแจ้งไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษา (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าสามารถส่งครูในสังกัดเข้ารับการอบรมและทดสอบได้ เพื่อที่หน่วยงานจะได้มีข้อมูลของครูนำไปวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาต่อไป
ขอบคุณที่มาจาก คม ชัด ลึก วันที่ 7 พ.ย.2559