สพฐ.วิเคราะห์ข้อสอบครูผู้ช่วยเชิงลึก หลังพบคนสอบผ่านน้อย สัปดาห์หน้าได้ข้อสรุป
วันนี้ (1 พ.ย.) ดร.พะโยม ชิณวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักพัฒนาระบบบริหารงานบุคคลและนิติการ (สพร.) ได้รายงานผลการวิเคราะห์ข้อสอบที่ใช้ในการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย ครั้งที่ 1/2559 เบื้องต้น ว่า มีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) 60 จังหวัด และสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ(สศศ.) เปิดสอบแข่งขันในครั้งนี้ โดยมีผู้เข้าสอบทั้งสิ้น 126,328 คน สอบได้ 11,333 คน คิดเป็นผู้สอบได้ 8.97%
ดร.พะโยม กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อสอบที่ใช้ในการสอบแข่งขันนั้น มี 5 จังหวัดที่ออกข้อสอบเอง ได้แก่ ภูเก็ต ยะลา หนองคาย บึงกาฬ และ ศรีสะเกษ มีผู้เข้าสอบ 9,608 คน สอบได้ 2,372 คน คิดเป็น 24.69% ส่วน56 จังหวัด และ สศศ. ได้จ้างมหาวิทยาลัย 11 แห่ง ออกข้อสอบ คือ ม.สวนดุสิต(มสด.)ใช้สอบใน 43 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 93,567 คน สอบได้ 6,935 คน คิดเป็น 7.14% ม.ราชภัฏ(มรภ.)สุราษฎร์ธานี ใช้สอบใน 3 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 3,950 คน สอบได้ 1.048 คน คิดเป็น 26.53% ม.ทักษิณ ใช้สอบใน 2 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 1,907 คน สอบได้ 177 คน คิดเป็น 9.28% ม.กาฬสินธุ์ ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 143 คน สอบได้ 3 คน คิดเป็น 2.10% ม.ขอนแก่น ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 1,480 คน สอบได้ 26 คน คิดเป็น 1.76% มรภ.เชียงราย ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 1,668 คน สอบได้ 160 คน คิดเป็น 9.59% มรภ.เพชรบูรณ์ ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 1,574 คน สอบได้ 49 คน คิดเป็น 3.11% มรภ.เลย ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 3,240 คน สอบได้ 164 คน คิดเป็น 5.06% มรภ.บุรีรัมย์ ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 6,868 คน สอบได้ 230 คน คิดเป็น 3.35% มรภ.ราชนครินทร์ ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 1,649 คน สอบได้ 110 คน คิดเป็น 6.67% มรภ.สกลนคร ใช้สอบใน 1 เขตพื้นที่ มีผู้เข้าสอบ 674 คน สอบได้ 59 คน คิดเป็น 8.75%
“จากข้อมูลเบื้องต้นยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่มีผู้ทำข้อสอบได้น้อย ว่า เป็นเพราะผู้ออกข้อสอบ ตัวข้อสอบ หรือการออกข้อสอบ แต่ สพฐ.ได้มอบให้สำนักทดสอบทางการศึกษา และ สพร.ร่วมกันวิเคราะห์ข้อสอบเชิงลึก ว่า ขั้นตอนการสร้างข้อสอบเป็นไปตามมาตรฐานวิชาการหรือไม่ สัดส่วนความยากง่ายของข้อสอบมีความเหมาะสมหรือไม่ และภูมิหลังของผู้เข้าสอบ ทั้งอายุ เพศ ระดับผลการเรียน และมหาวิทยาลัยที่จบมาว่า มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหรือไม่อย่างไร โดยคาดว่าสัปดาห์หน้าน่าจะได้ข้อสรุป”ดร.พะโยมกล่าว
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายน 2559