บอร์ดคุรุสภามีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้นักศึกษามหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ วิทยาลัยทองสุข และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่จบปีการศึกษา 2557-2558 ส่วนมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ไม่ให้ตั๋วผู้บริหารการศึกษาผู้จบปีการศึกษา 2557
วันนี้ (31 ต.ค.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากรณีมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน 12 แห่ง เปิดรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาบริหารการศึกษาเกินกว่าที่แจ้งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.)รับทราบ ซึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการประเมินมาตรฐานหลักสูตร มาตรฐานการผลิต และมาตรฐานบัณฑิต ปริญญาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาชีพบริหารการศึกษาหรือเทียบเท่าของคุรุสภา ได้เชิญมหาวิทยาลัย 11 แห่งมาให้ข้อมูล ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ เหตุผลการรับนักศึกษาเกินจากแผน ศักยภาพในการบริหารจัดการหลักสูตร และการจัดการรายได้ที่เพิ่มขึ้น โดยผลการพิจารณาพบว่ามหาวิทยาลัย 7 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์,มหาวิทยาลัยศิลปากร,มหาวิทยาลัยบูรพา,มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.)บุรีรัมย์,มรภ.สุราษฎร์ธานี มรภ.ภูเก็ต และมรภ.เชียงราย รับนักศึกษาเกินกว่าจำนวนที่แจ้งไม่มากอยู่หลักสิบคน ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติใบอนุญาตประกอบวิชาชีพผู้บริหารการศึกษาให้กับนักศึกษาปริญญาโทกลุ่มนี้
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ มหาวิทยาลัยราชธานี เนื่องจากยังส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน คณะอนุกรรมการฯจะเชิญมหาวิทยาลัยเข้ามาชี้แจงอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ก่อนจะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการคุรุสภาในวันที่ 27 พ.ย.2559 ส่วนอีก 3 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ วิทยาลัยทองสุข และวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตฯ ให้แก่ผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2557 และปีการศึกษา 2558 เนื่องจากมีการรับนักศึกษาเกินแผนจำนวนมาก อาจารย์ในหลักสูตรส่วนใหญ่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่สกอ.กำหนด ทำให้ไม่สามารถมั่นใจว่ามหาวิทยาลัยสามารถจัดการศึกษาและผลิตบัณฑิตได้มีคุณภาพ
พล.อ.ดาว์พงษ์ กล่าวอีกว่า สำหรับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ประชุมมีมติไม่อนุมัติใบอนุญาตฯ เฉพาะปีการศึกษา 2557 ในหลักสูตรศึกษาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาบริหารการศึกษา (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ.2554) ซึ่งตามแผนกำหนด 490 คน แต่มหาวิทยาลัยรับจริง 2,500 คนเกินกว่าแผนถึง 5 เท่า และพบว่าการจัดการเรียนการสอนในแต่ละสัปดาห์ ใช้วิธีการจัดกลุ่มเรียนถึง 64 กลุ่ม เรียนพร้อมกันจำนวนมาก แต่ไม่มีข้อมูลยืนยันได้ว่านักศึกษาทุกคนมาเรียนตามแผนการเรียนที่กำหนด ในส่วนของอาจารย์ผู้สอนพบว่ามีอาจารย์ประจำ 231 คน มีหลักฐานการแต่งตั้งและหนังสือสัญญาจ้างแต่ไม่พบหลักฐานยืนยันการมาปฏิบัติงานจริงของอาจารย์ทุกคน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับนักศึกษานั้นมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นผู้รับชอบ เพราะทำผิดเงื่อนไขมาแต่แรกตั้งแต่การรับนักศึกษา
ด้าน ดร.สมศักดิ์ ดลประสิทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า เบื้องต้นนักศึกษาเหล่านี้จะไม่ได้รับใบอนุญาตฯจากคุรุสภา แต่หาก สกอ.พิจารณารับทราบจำนวนนักศึกษาในส่วนที่แต่ละแห่งรับเกินมาและให้ไปเรียนในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองเพิ่มเติม ทางคุรุสภาก็อาจจะมาพิจารณาเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559