กศน.เคลื่อนประสานชุมชนใช้โรงเรียนว่างจากการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์ จัดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ หวังสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนและเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
วันนี้(31ต.ค.)นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้ดำเนินการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กภายใต้โครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” โดยมีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่เกิน 20 คน ให้มาเรียนร่วมกันในโรงเรียนที่อยู่ใกล้เคียง เพื่อเป็นการพัฒนาการศึกษาร่วมกัน และเมื่อมีการเคลื่อนย้ายนักเรียนไปเรียนรวมกันแล้วทำให้โรงเรียนที่เคลื่อนนักเรียนออกไปต้องว่างลง ซึ่ง ศธ.ได้มอบหมายให้ กศน.ไปทำหน้าที่ประสานกับประชาชนและชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงคลังสมองและภูมิปัญญาในพื้นที่ เพื่อใช้พื้นที่ของโรงเรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน เป็นการศึกษาตลอดชีวิต โดยยึดวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชนเป็นหลัก
เลขาธิการ กศน.กล่าวต่อไปว่า สำหรับการดำเนินการนั้น ตนได้มอบหมายให้ ผอ.กศน.จังหวัด/อำเภอ และ ครู กศน.ตำบล ไปสำรวจและพูดคุยถึงความต้องการของชุมชนก่อน โดยเปิดโอกาสให้คลังสมอง ภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ของชุมชนร่วมกันด้วย ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โดยกิจกรรมที่ กศน.จะเข้าไปดำเนินการ ได้แก่ การสอนและส่งเสริมเรื่องของอาชีพ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การอ่านออกเขียนได้ เรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง ศาสตร์ของพระราชา เป็นต้น
“ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ของโรงเรียนที่ไม่มีนักเรียนแล้วให้เป็นประโยชน์กลับคืนสู่ชุมชน เป็นการสร้างความมีส่วนร่วม เพื่อให้ความเป็น “บ ว ร” คือ บ้าน วัด โรงเรียนคงอยู่คู่กับสังคมไทย และนอกจากจะเป็นสถานที่จัดการเรียนรู้สำหรับเด็ก วัยรุ่น ผู้สูงอายุและคนทุกกลุ่ม ในเรื่องที่เขาสนใจ โดยเฉพาะการสร้างอาชีพที่แข็งแรงแล้ว สิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ในศาสตร์ของพระราชาที่ กศน.จะนำไปเผยแพร่ด้วย”นายสุรพงษ์กล่าว
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2559