เป็นประจำทุกปีที่บริษัท ปิโก (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) จัดงานมหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู (EDUCA) ซึ่งเป็นการจัดงานอย่างต่อเนื่องมาถึงปีที่ 9 โดยครั้งนี้มีแนวคิดหลักว่า "โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้" (School as Learning Community : SLC) ที่โรงเรียนต้องตระหนักถึงสิทธิในการเรียนรู้ของเด็กทุกคน
ต้นกำเนิดของแนวคิดดังกล่าวมาจาก "ศ.ดร.มานาบุ ซาโต" ศาสตราจารย์เกียรติคุณแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยกักคุชูอิน ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้นำเสนอมาตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว โดยได้รับความสนใจจากครูในญี่ปุ่นจำนวนมาก ทำให้เกิดการปฏิรูปโรงเรียนในระดับรากฐาน พร้อมขยายแนวคิดและแนวปฏิบัติไปทั่วญี่ปุ่นและระดับนานาชาติ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศในเอเชีย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพการศึกษาที่มีพลังสร้างสรรค์
ภายในงาน EDUCA "ศ.ดร.มานาบุ ซาโต" กล่าวถึงประเด็นหลักของแนวคิดว่าเป็นการสร้างความตระหนักในสังคมว่าทุกคนคนมีสิทธิในการเรียนรู้ ซึ่ง SLC จะเน้นการทำกิจกรรมที่ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านการทำงานในชั้นเรียน นับเป็นต้นแบบของการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งการรับฟังเสียงของคนอื่นเป็นกระบวนการสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการเรียนรู้ โดยปัจจุบันแนวคิด SLC ถูกนำไปใช้แล้วกับ 3,500 กว่าโรงเรียนในญี่ปุ่น และในหลายประเทศ เช่น เม็กซิโก, จีน, เกาหลีใต้, ไต้หวัน, อินโดนีเซีย และเวียดนาม
"การเรียนแบบ SLC โรงเรียนต้องเปิดกว้างให้เห็นการทำงานร่วมกัน ด้วยการเปิดห้องเรียนให้ครูคนอื่นได้มาศึกษาวิธีการเรียนการสอนด้วย เพราะประเด็นสำคัญอยู่ที่การสื่อสาร ซึ่งการฟังคนอื่นถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ การรับฟังในที่นี้เป็นการเรียนรู้ที่อาศัยการโต้ตอบกัน อันนำไปสู่การสร้างสังคมประชาธิปไตย"
สำหรับการสอนเป็นรูปแบบของโปรเจ็กต์ และครูอาจปรับให้เด็กได้เรียนรู้ระหว่างชั้นก็ได้ด้วยการคละเด็กต่างระดับมาเรียนและทำงานร่วมกัน เพื่อได้สัมผัสความหลากหลายทางความคิด โดยครูอาจออกแบบแผนการสอนที่มอบโจทย์ให้เด็กได้แบ่งปันไอเดียกัน เป็นการสร้างความก้าวหน้าในการเรียนรู้ด้วยกันโดยต้องไม่มีเด็กคนไหนที่ถูกทิ้งให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว
"ขณะเดียวกันครูต้องเปิดโอกาสให้ครูท่านอื่นมาเรียนรู้ห้องเรียนของตัวเองอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง อันเป็นพื้นฐานในการพัฒนาโรงเรียน โดยครูชั้นเดียวกันอาจมาเรียนรู้ร่วมกันในรายวิชาเดียวกัน เพราะการสื่อสารสู่สาธารณะมีพลังมากกว่าการเก็บข้อมูลไว้คนเดียว ทั้งนั้น การถักทอชุมชนแห่งการเรียนรู้ระดับโลก หรือทำให้เกิดเป็นสาธารณรัฐของการเรียนรู้ที่สมาชิกทุกคนสามารถเรียนรู้ได้โดยไม่มีพรมแดนกั้น จะทำให้เกิดความเข้มแข็งของเครือข่ายโรงเรียน อีกทั้งยังเป็นการก้าวข้ามปัญหาการเมืองทั้งในและนอกประเทศมาสู่การเรียนรู้ร่วมกันได้"
หนึ่งในประเทศที่นำSLC ไปใช้อย่างเกาหลีใต้ "ดร.ซอน อู ชอง" ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนแห่งการเรียนรู้ ประเทศเกาหลีใต้ กล่าวว่า เกาหลีใต้ได้นำการเรียนรู้แบบ SLC เข้ามาศึกษาตั้งแต่ปี 2544 และดำเนินการนำร่องในโรงเรียน 4 แห่งเมื่อปี 2547 ตอนนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก มีการนิยามโรงเรียนที่ใช้ SLC ว่า เป็นโรงเรียนนวัตกรรม โดยประธานคณะกรรมการด้านการศึกษา ทำให้การเรียนแบบ SLC ขยายวงกว้างขึ้น อีกทั้งสำนักงานการศึกษาท้องถิ่นที่เริ่มสร้างโรงเรียนเชิงประชาธิปไตย ก็ได้นำ SLC มาเป็นต้นแบบสำหรับการสร้างโรงเรียนที่มีคุณภาพ
โรงเรียนในฐานะชุมชนการเรียนรู้เป็นวิธีที่ทำให้ครูเติบโตในวิชาชีพของตนเพราะได้ปฏิรูปการศึกษาด้วยการเปิดห้องเรียนให้ครูคนอื่นมาศึกษาการสอนห้องเรียนของตนเอง โดยลักษณะของห้องเรียนจะมีการจัดโต๊ะเป็นรูปตัว U เพื่อให้เด็กได้ร่วมเรียนรู้กันง่ายขึ้น และครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างเข้าถึงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งลักษณะการเรียนการสอนแบบนี้แตกต่างจากการสอนจากมหาวิทยาลัยที่ให้ยึดวิธีการสอนที่เป็นระเบียบวิธีแน่นอน
"ขอยกตัวอย่างGunpo Middle School เป็นโรงเรียนรัฐบาลที่เปิดสอนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อยู่ในจังหวัดกยองกิ มีนักเรียน 27 คนต่อห้อง เด็กของโรงเรียนแห่งนี้มีผลการเรียนตกต่ำ โดย 70% ของนักเรียนไปศึกษาต่ออาชีวศึกษา อีก 30% เข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่ง 1 ใน 3 ของจำนวนนักเรียนทั้งหมดไม่สนใจเรียนรู้ หลับในห้องเรียน และเป็นอย่างนี้ทุกห้อง"
"หลังจากนำ SLC มาใช้ ครูได้เปิดห้องเรียนให้ครูคนอื่นเข้ามาดูการเรียนการสอนเดือนละครั้ง โดยครูจะแบ่งนักเรียนให้นั่งเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน เพื่อให้ได้ดูแลเพื่อนและร่วมกันเรียนรู้ ทำให้เด็กไม่หลับระหว่างเรียนอีกแล้ว ทุกคนอยากมีส่วนร่วมในการเรียน การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ 70% ของเด็กอยากเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และไปเรียนต่อมหาวิทยาลัย ขณะที่ครูก็มีความสุขกับการสอน และเกิดความหวังในตัวเด็กมากขึ้น"
ปัจจุบันเกาหลีใต้มีโรงเรียน 350 แห่ง ที่เข้าร่วมเครือข่ายของโรงเรียน SLC โดย 90% เป็นโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และมีสมาชิก 3,800 รายในชุมชนท้องถิ่น 38 แห่งทั่วเกาหลีใต้ โดยตั้งแต่ปี 2553 ทางเครือข่ายได้จัดประชุมรายปี และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีครู นักวิจัย ผู้บริหารโรงเรียน และตัวแทนของแต่ละจังหวัด รวมกว่า 1,000 คน มาเข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์ โดยครูจะนำสื่อหรือวิดีโอที่ถ่ายทำการสอนในโรงเรียนมาพูดคุยกันและแลกเปลี่ยนไอเดียการจัดการเรียนการสอนร่วมกัน
"ดร.ซอนอู ชอง" กล่าวย้ำว่า ความสำเร็จของการขยายการเรียนแบบ SLC ในเกาหลีใต้ มีกุญแจสำคัญคือครู ซึ่งเขาจะพัฒนาตัวเองด้วยการเวิร์กช็อปและเทรนนิ่งต่าง ๆ ซึ่งหลังจากที่ครูมาใช้รูปแบบ SLC พบว่า เขาเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้มากกว่าเดิม และพยายามหากิจกรรมอื่น ๆ ในการพัฒนาตนเอง นับเป็นหนึ่งกลไกที่ช่วยพัฒนาโรงเรียนของเกาหลีใต้ เพราะหากครูไม่เปลี่ยนมุมมองความคิด โรงเรียนก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ต.ค. 2559 เวลา 04:30:00 น.