เทศกาลสงกรานต์นี้ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่หรือปาเวณีปีใหม่ (อ่าน"ป๋าเวนีปี๋ใหม่") ในช่วงเทศกาลนี้ซึ่งกินเวลา ๕ วัน ประชาชนจะหยุดงานทั้งสิ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรมโดยตลอด เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้น จะถือเอาวันที่พระอาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็น วันสังกรานต์ล่อง หรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ ๑๓ เมษายน ตามประกาศของทางการเสมอไป (แต่ปัจจุบันนี้จะยึดตามประกาศของทางการ) เทศกาลนี้จะมีวันต่าง ๆ และมีพิธีกรรมและการละเล่นหลายอย่างที่ เกี่ยวข้องกัน ดังนี้
วันสังกรานต์ล่อง คือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งออกเสียงแบบล้านนาว่า "สัง-ขาน" นี้คือวันที่พระอาทิตย์โคจรไปสุดราศีมีนจะย่างเข้าสู่ราศีเมษ ตามความเชื่อแบบล้านนากล่าวกันว่าในตอนเช้ามืดของวันนี้ "ปู่สังกรานต์" หรือ "ย่าสังกรานต์"จะนุ่งห่มเสื้อผ้าสีแดงสยายผมล่องแพไปตามลำน้ำ ปู่หรือย่าสังกรานต์นี้จะนำเอาสิ่งซึ่งไม่พึงปรารถนาตามตัวมาด้วย จึงต้องมีการยิงปืนจุดประทัดหรือทำให้เกิดเสียงดังต่าง ๆ นัยว่าเป็น "การไล่สังกรานต์" และถือกันว่าปืนที่ใช้ยิงขับปู่หรือย่าสังกรานต์นั้นจะมีความขลังมาก ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันนี้จะมีการปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด มีการซักเสื้อผ้า เก็บกวาดและเผาขยะมูลฝอยต่าง ๆ มีการดำหัวหรือสระผมเป็นกรณีพิเศษ คือเมื่อสระผมแล้วก็จะต้องเงยหน้าไปตามทิศที่กำหนดไว้และทัดดอกไม้ที่เป็นนามของปีของแต่ละปี นุ่งห่มเป็นเสื้อผ้าใหม่ ฝ่ายพ่อบ้านก็จะนำเอาพระพุทธรูปพระเครื่องหรือเครื่องรางของขลังต่างๆ มาชำระหรือสรงด้วยน้ำอบน้ำหอมหรือ เปลี่ยนดอกไม้บูชาพระในแจกันใหม่ด้วย
ในวันสังกรานต์ล่องนี้ ตามประเพณีโบราณแล้ว กษัตริย์แห่งล้านนาจะต้องทำพิธีสรงน้ำตามทิศที่ โหรหลวงคำณวนไว้ และจะลงไปทำพิธีลอยเคราะห์ในแม่น้ำเช่น ในแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง เป็นต้น ในวันนี้บางท่านก็จะเรียกลูกหลานมาพร้อมกล่าวคำมงคลแล้วใช้น้ำส้มป่อยลูบศีรษะตัวเองหรือลูกหลานทุกคน และบางท่านจะให้ ลูกหลานเอาฟักเขียวหรือฟักทองไปปลูกและใช้มูลควายตากแห้งเป็นปุ๋ยโดยบอกเด็กว่าปู่ย่าสังกรานต์พึงใจที่ได้เห็น ลูกหลานปลูกฟัก บ้างว่า ผู้ที่ปลูกฟักนั้นก็จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดด้วย สำหรับในเมืองใหญ่เช่นเชียงใหม่ นิยมจัดขบวนแห่พระพุทธรูปสำคัญประจำเมืองเช่นพระพุทธสิหิงค์และพระเสตังคมณี ไปตามถนนสายต่าง ๆ แล้วนำไปประดิษฐานไว้เพื่อให้ประชาชนได้เข้านมัสการสรงน้ำพระพุทธรูปดังกล่าวด้วย
วันเนา วันเนาว์ หรือ วันเน่า ในแง่ของโหราศาสตร์แล้ว วันนี้ควรจะเรียกว่า วันเนา เพราะเป็นวันที่พระอาทิตย์โคจรอยู่ระหว่างราศีมีนและราศีเมษ อันเป็นวันที่ถัดจากวันสังกรานต์ล่อง แต่ในการออกเสียงแล้วทั่วไปมักเรียก"วันเน่า" ทำให้เกิดความคิดที่ห้ามการกระทำสิ่งที่ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะห้ามการด่าทอทะเลาะวิวาทกัน กล่าวกันว่าผู้ใดที่ด่าทอผู้อื่นในวันนี้แล้ว ปากของผู้นั้นจะเน่า และหากวิวาทกันในวันนี้ บุคคลผู้นั้นจะอัปมงคลไปตลอดปี ส่วนผู้ประสงค์จะปลูกเรือนด้วยไม้ไผ่ ก็ให้รีบตัดในวันนี้ เพราะเชื่อกันว่าไม้จะ"เน่า"และไม่มีมอดหรือปลวกมากินไม้ดังกล่าว วันเนานี้จะเป็นวันเตรียมงาน ชาวบ้านจะพากันไปซื้อของเพื่อกินและใช้ในวันพญาวัน เมื่อถึงตอนบ่ายจะมีการขนทรายเข้าวัด กองรวมกันทำเป็น การขนทรายเข้าวัดนี้ถือว่าเป็นการนำทรายมาทดแทนส่วนที่ติดเท้าของตนออกจากวัดซึ่งเสมอกับได้ลักของจากวัด วันเนานี้อาจเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วันดา เพราะเป็นวันที่ ดา หรือจัดเตรียม สิ่งของต่างๆ จะใช้ทำบุญนั่นเอง
วันพญาวัน เป็นวันเถลิงศกเริ่มต้นจุลศักราชใหม่ วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาดัง ตั้งแต่เวลา เช้าตรู่ผู้คนจะนำเอาสำรับอาหารหวานคาวต่าง ๆ ไปทำบุญถวายพระตามวัด ทานขันเข้า (อ่าน"ตานขันเข้า") เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษหรือญาติมิตรที่ล่วงลับไปแล้วด้วย บางคนอาจนำสำรับอาหารไปมอบให้แก่บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ผู้เฒ่าผู้แก่หรือผู้ที่ตนเคารพนับถือ เรียกว่า ทานขันเข้าฅนเถ้าฅนแก่
จากนั้นจะนำทุงหรือธงซึ่งได้เตรียมไว้ไปปักบนเจดีย์ทราย ทั้งนี้ มีคติว่าการทานทุง นั้นมีอานิสงส์ สามารถช่วยให้ผู้ตายที่มีบาปหนักถึงตกนรกนั้นสามารถพ้นจากขุมนรกได้ จากนั้นก็มีการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ในวันพญาวันนี้ บางท่านอาจจะเตรียมไม้ง่ามไปถวายสำหรับค้ำต้นโพ ถือคติว่าเพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการจะช่วยกันค้ำจุนพระศาสนาให้ยืนยาวต่อไป และจะมีการสรงน้ำทั้งพระพุทธรูป สถูปเจดีย์รวมทั้งสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ด้วย ในตอนบ่ายจะมีการไป ดำหัวหรือไปคารวะผู้เฒ่าผู้แก่บิดามารดา ญาติพี่น้องผู้อาวุโสหรือผู้มีบุญคุณหรือผู้ที่เคารพนับถือ เพื่อเป็นการขอขมาและผู้ใหญ่ก็จะให้พร
วันปากปี ในวันนี้ ศรัทธาที่ไม่ไปที่วัดก็ จะไปเตรียมสถานที่ เพื่อทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของ เสาใจบ้านหรือสะดือบ้านบ้างเรียก แปลงบ้าน หรือส่งเคราะห์บ้าน บริเวณหอเสื้อบ้าน (อารักษ์หมู่บ้าน) ที่วัดตอนเช้าจะมีการทำพิธีปูชาเข้าลดเคราะห์ ปูชาเข้ายกเคราะห์ ปูชาเคราะห์ปีใหม่ ปูชาสระพระเคราะห์ เป็นต้น เชื่อว่าผู้ที่บูชาดังว่าในวันปากปี จะได้รับความคุ้มครองไปตลอดปี และชาวบ้านบางคนจะพากันไปดำหัววัด คือไปทำพิธีคารวะเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน ด้วย
วันในลำดับที่ ๕ ของเทศกาลนี้คือ วันปากเดือน ซึ่งถือเป็นวันเริ่มต้นของเดือนใหม่ ในวันนี้นิยมมีการส่งเคราะห์ต่าง ๆ ตามแบบที่นิยมนับถือกันมาแต่โบราณ การส่งเคราะห์ที่ว่านี้มีหลายอย่าง เช่น ส่งชน, ส่งแถน, ส่งเคราะห์นรา เป็นต้น ส่วนการดำหัวนั้นก็จะดำเนินต่อไปจนครบตามต้องการ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้มีการละเล่นที่สนุกสนานหลายอย่าง เช่น เล่นหมากบ้าหรือการเล่นสะบ้า เล่นหมากคอนหรือการเล่นโยนลูกช่วง เป็นต้น แต่การเล่นที่สนุกที่สุกและมีเพียงช่วงเดียวในรอบปี คือ เล่นหดน้ำ ปีใหม่ หรือการเล่นรดน้ำในเทศกาลขึ้นปีใหม่นั่นเอง
ขอบคุณที่มา http://www.lannaworld.com