ภายหลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ตามที่สำนักงาน ก.พ.เสนอ โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
สาระสำคัญของเรื่อง สำนักงาน ก.พ. รายงานว่า
1.กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการประเภทต่าง ๆ กำหนดเกี่ยวกับการได้รับเงินเดือนของข้าราชการไว้แตกต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการรับเงินเดือนระหว่างข้าราชการแต่ละประเภท คือ
1.ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา
2.ข้าราชการทหารและข้าราชตำรวจ
3.ข้าราชการพลเรือนสามัญ
2.คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ในการประชุมครั้งที่ 9/2559 เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2559 ได้พิจารณาปัญหาความเหลื่อมล้ำในการได้รับเงินเดือนของข้าราชการประเภทต่าง ๆ แล้วเห็นว่า การที่ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูง (เงินเดือนตัน) ในอัตราที่ต่ำกว่าข้าราชการประเภทอื่น ถือเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นสมควรที่จะกำหนดให้ข้าราชการดังกล่าวได้รับการเยียวยาตามมาตรา 50/1 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงได้มีมติเห็นชอบการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง และให้หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือนสูงกว่าขั้นสูงของตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง สรุปได้ ดังนี้
1.ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ดำรงตำแหน่งประเภทและระดับใดที่ได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูง (ตามบัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญท้านกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน) หรือได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนสูงสุด (เงินเดือนตัน) เมื่อได้รับการพิจารณาเลื่อนเงินเงินเดือนตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการแล้วให้ได้รับเงินเดือนในระดับถัดไปของแต่ละประเภทตำแหน่ง เช่น ข้าราชการระดับชำนาญการที่เงินเดือนตัน (อัตรา 43,600 บาท) ให้ได้รับเงินเดือนในระดับชำนาญการพิเศษถึงขั้นสูง (อัตรา 58,390 บาท) เป็นต้น ยกเว้นกรณีดังต่อไปนี้
1) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับทักษะพิเศษและผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับเชี่ยวชาญ (ได้รับเงินเดือนขั้นสูงอัตรา 69,040 บาท) ให้ได้รับเงินเดือนในตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ โดยให้ได้รับเงินเดือนไม่เกินอัตราที่ ก.พ. กำหนดตามข้อ 3 (2) ของกฎ ก.พ. ว่าด้วยการให้ข้าราชการพลเรือนสามัญได้รับเงินเดือน พ.ศ. 2551 (อัตราไม่เกิน 64,340 บาท) ทั้งนี้ ในปัจจุบันผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิได้รับเงินเดือนไม่เกิน 74,320 บาท (ตามหนังสือสำนักงาน ก.พ. ด่วนที่สุด ที่ นร 1012.2/ว 6 ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2558 เรื่อง การปรับเงินเดือนเข้าสู่บัญชีเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือนสามัญ)
2) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิให้ได้รับเงินเดือนไม่เกินขั้นสูงของประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ (อัตรา 76,800 บาท)
3) ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง (ได้รับเงินเดือนขั้นสูงอัตรา 70,360 บาท) ให้ได้รับเงินเดือนในตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้นถึงขั้นสูง (อัตรา 74,320 บาท)
2.ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างประเภทต่างสายงาน หรือต่างระดับ และเงินเดือนที่ได้รับอยู่สูงกว่าเงินเดือนขั้นสูงหรืออัตราเงินเดือนสูงสุดสำหรับตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้ง ให้ได้รับเงินเดือนในอัตราที่ได้รับอยู่เดิมโดยให้ได้รับเงินเดือนตามข้อ 1 ตั้งแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งต่างประเภทต่างสายงาน หรือต่างระดับ
3.ข้าราชการพลเรือนสามัญที่ได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการในข้อ 1 ให้ได้รับเงินเดือนในวันที่ 1 เมษายน หรือวันที่ 1 ตุลาคม ตามรอบการประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยคำนวณจากฐานในการคำนวณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของตำแหน่งที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้นั้นดำรงตำแหน่งอยู่ (ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2552) ยกเว้นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสและประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ในสายงานที่ ก.พ. กำหนดอัตราเงินเดือนสูงสุดไว้ เมื่อได้รับเงินเดือนถึงอัตราเงินเดือนสูงสุดที่ ก.พ. กำหนดแล้วแต่กรณีแล้วให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนโดยคำนวณจากรากฐานในการคำนวณสำหรับการเลื่อนเงินเดือนของตำแหน่งประเภททั่วไประดับอาวุโสหรือตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิ ระดับบน 2 ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎ ก.พ. ว่าด้วยการเลื่อนเงินเดือน พ.ศ. 2552
ในกรณีที่ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดต้องพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ ให้ผู้นั้นได้รับเงินเดือนดังกล่าวในวันที่ 30 กันยายน ของปีสุดท้ายก่อนที่จะพ้นจากราชการเพราะเหตุเกษียณอายุ
4.ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับเงินเดือนตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ เมื่อได้รับเงินเดือนจนถึงอัตราเงินเดือนขั้นสูงสุดหรืออัตราเงินเดือนสูงสุดที่ ก.พ. กำหนดแล้ว ให้ได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างถึงขั้นสูง หรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่ง
5.ข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดได้รับค่าตอบแทนพิเศษตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกค่าตอบแทนพิเศษของข้าราชการและลูกจ้างประจำผู้ได้รับเงินเดือน หรือค่าจ้างถึงขั้นสูงหรือใกล้ถึงขั้นสูงของอันดับหรือตำแหน่งอยู่ในวันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้มีผลใช้บังคับ ให้นำค่าตอบแทนดังกล่าวมารวมเป็นเงินเดือน ในกรณีที่มีเศษไม่ถึงสิบบาทให้ปรับเป็นสิบบาท และให้ได้รับเงินเดือนในอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่หลักเกณฑ์และวิธีการนี้มีผลใช้บังคับ
6.กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการนี้ให้นำเสนอ ก.พ. พิจารณา
การมีผลใช้บังคับ ให้หลักเกณฑ์และวิธีการข้างต้น มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2559
ขอบคุณที่มาจาก ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 18 ต.ค. 2559