ปฏิรูปการศึกษา คือ รากฐานของการปฏิรูปประเทศ
โดย รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
ความเจริญก้าวหน้าขององค์กร ไม่ว่าจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ระดับประเทศ ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายประการ ที่สำคัญคือบุคลากรที่อยู่ในองค์กรนั้น
ประชาชนของประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลาย เป็นผู้ที่มีศักยภาพในระดับสูง มีความรู้ มีวินัย และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการที่ผู้บริหารประเทศเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการศึกษา ดำเนินการปรับปรุง ปฏิรูป การบริหารการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารประเทศอย่างดีเยี่ยม ทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้าอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ประเทศไทยถือว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและมีการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดมา แต่ก็ยังไม่ทันกับความเจริญก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของโลก จำเป็นจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับ ตั้งแต่อนุบาลศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญศึกษา และสายวิชาชีพ) และอุดมศึกษา (สายสามัญศึกษาและสายวิชาชีพ) ในระดับต่ำกว่าปริญญา ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และบัณฑิตศึกษาหรือเทียบเท่า และถ้าจะให้สมบูรณ์ควรรวมถึงการให้การศึกษากับประชาชนไปจนตลอดชีวิต
เป็นที่น่ายินดีที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายประเทศไทย 4.0 ถือได้ว่าเป็นวิสัยทัศน์เชิงรุกที่ดี และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำลังจะมีการประกาศใช้ ได้กำหนดให้มีการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ที่จะต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ โดยหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว จะต้องดำเนินการปฏิรูปภายในหนึ่งปี และจะต้องดำเนินการให้สัมฤทธิ์ผลภายในห้าปี รวมทั้งกำหนดให้จัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ต่อเนื่องไปในอนาคต รัฐบาลได้เร่งดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี แบ่งเป็น 4 ช่วง ช่วงละ 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2560 จะดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ รวม 10 ด้าน ได้แก่ เศรษฐกิจ การเกษตร ศักยภาพคนไทย ความเหลื่อมล้ำทางสังคม การป้องกันการทุจริต ทรัพยากรธรรมชาติ โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม รายได้ประชาชน นวัตกรรมและการวิจัย และระบบโทรคมนาคม
นอกเหนือไปจากการเสนอนโยบาย วิสัยทัศน์ และวางแผนในอนาคต รัฐบาลได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะดำเนินการปรับปรุงการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง โดยเห็นได้จากงบประมาณปี 2560 ที่จัดสรรให้กระทรวงศึกษาธิการ 519,292.5 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 19% จากงบประมาณทั้งประเทศ จำนวน 2,733,000 ล้านบาท นับว่าเป็นกระทรวงที่ได้รับงบประมาณมากที่สุด รวมถึงกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญของระบบการศึกษาก็ได้รับงบประมาณจำนวน 11,868.7 ล้านบาท
มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ มากมายจากทุกภาคส่วนที่มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการบริหารการศึกษาของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ หลักสูตร ผู้เรียน และผู้สอน โดยผู้สอนน่าจะเป็นประเด็นที่สำคัญที่สุด จึงขอเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนอย่างเร็วที่สุด ในเรื่องค่าตอบแทนและการบริหารงานบุคคลในส่วนของครูและอาจารย์
คงจะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าการเลือกสาขาวิชาในการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของนักเรียนนั้น ความชอบและความถนัดเป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือค่าตอบแทนที่จะได้รับ เมื่อสำเร็จการศึกษาไปประกอบอาชีพ ประเทศของเราจึงมีแพทย์ วิศวกร ที่มีความสามารถระดับนานาชาติมากมาย การเพิ่มค่าตอบแทนให้บุคลากรของรัฐกลุ่มที่เป็นครูและอาจารย์ จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นความสนใจของนักเรียนที่มีผลการเรียนดี (รวมถึงผู้ปกครอง) และควรเพิ่มให้อยู่ในระดับเดียวกัน (หรือมากกว่า) กับบุคลากรของรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน
เมื่อให้ค่าตอบแทนครูและอาจารย์ในระดับสูงสุด (เมื่อเทียบกับสาขาอาชีพอื่นๆ) แล้ว ควรที่จะมีเส้นทางการประกอบอาชีพที่ชัดเจน นั่นคือจะต้องปรับเปลี่ยนการบริหารงานบุคคล ตั้งแต่การรับเข้า การพัฒนา การเลื่อนขั้น จนถึงเกษียณอายุราชการ ตัวอย่างเช่น ควรได้ทำงานในภูมิลำเนาเดิมของตน (ซึ่งจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในเรื่องการสร้างบ้านพัก) เมื่อได้รับการเลื่อนขั้นก็ไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่จังหวัดอื่น เป็นต้น
การปรับเปลี่ยนในสองประเด็นที่เสนอนี้ จะทำให้ประเทศของเราได้ครูและอาจารย์รุ่นใหม่ ซึ่งอาจเรียกได้ว่า ครูและอาจารย์รุ่น 4.0 มาร่วมในการปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อเข้าสู่ การศึกษาไทย 4.0 เมื่อปฏิรูปการศึกษาไทยได้สำเร็จ (ซึ่งจะต้องใช้เวลาพอสมควร) ประชาชนในประเทศของเราจะเป็นประชาชนที่มีศักยภาพ มีวินัย และมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน เช่นเดียวกับพลเมืองของประเทศที่พัฒนาแล้ว และการปฏิรูปประเทศในด้านต่างๆ ให้เป็น ประเทศไทย 4.0 ก็จะสามารถดำเนินการให้สำเร็จได้โดยใช้เวลาที่ไม่นานเกินไปตามที่ทุกคนมุ่งหวัง
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์
ขอบคุณที่มาจาก มติชนออนไลน์ วันที่: 18 ต.ค. 59