เมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2559 ไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอรายงานพิเศษ เรื่อง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ "กษัตริย์" นักการศึกษา พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน
“พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน”
พระราชสมัญญา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ที่กระทรวงศึกษาธิการถวาย เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554
เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ด้วยทรงตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาอย่างหาที่สุดมิได้ ทั้งทรงมีพระปรีชาสามารถในสรรพวิทยาการด้านต่างๆ จนเป็นที่ประจักษ์แจ้งทั้งต่อพสกนิกรชาวไทยและในนานาอารยประเทศ ทรงประดิษฐ์คิดค้นพัฒนาองค์ความรู้ที่ทรงค้นพบหลากหลายสาขา จากนั้นทรงเผยแพร่ความรู้ให้แก่พสกนิกรทุกหมู่เหล่า และแก่มวลมนุษยชาติในลักษณะของครูมหาชนและของมวลมนุษยชน
ดังพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตวิทยาลัย วิชาการศึกษา ประสานมิตร เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2505
“...การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ คนเราเมื่อเกิดมาก็ได้รับการสั่งสอนจากบิดามารดา อันเป็นความรู้เบื้องต้น เมื่อเจริญเติบใหญ่ขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของครูและอาจารย์สั่งสอนให้ได้รับวิชาความรู้สูง และอบรมจิตใจให้พร้อมด้วยคุณธรรม เพื่อจะได้เป็นพลเมืองที่ดีของชาติสืบไป...”
พระบรมราโชวาทที่อัญเชิญมานี้แสดงให้เห็นถึงพระราชดำริที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาและทรงสะท้อนเป็นพระราชกรณียกิจนานัปการก่อประโยชน์สุขต่อพสกนิกรผ่านโครงการน้อยใหญ่หลายพันโครงการเพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและความผาสุก
สิ่งที่พระองค์ทรงคิดและทรงปฏิบัติต่อพสกนิกร พระองค์จึงทรงเป็น “พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน” โดยแท้
“ข่าวการศึกษา” ขอน้อมนำพระราชกรณียกิจพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพล อดุลยเดช ที่ทรงมีต่อการศึกษาไทย มาบันทึกไว้ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น
การศึกษาในระบบโรงเรียน
ใน พ.ศ.2489 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรข้าราชบริพารในพระราชวัง โดยเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปได้ร่วมเรียนด้วย ทั้งนี้ พระองค์ยังทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนที่เรียนของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล จึงมีพระราชดำริให้ทหารช่วยก่อสร้างโรงเรียน พระราชทานนามว่า “โรงเรียนร่มเกล้าฯ”
ขณะเดียวกัน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน สำหรับชาวไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ในดินแดนทุรกันดารห่างไกลการคมนาคม ซึ่งมีชื่อเรียกว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” พระองค์ยังทรงเล็งเห็นถึงปัญหาของเยาวชนที่ครอบครัวประสบปัญหาเดือดร้อนจากสาธารณภัย ภัยธรรมชาติ จึงทรงพระเมตตารับอุปถัมภ์เยาวชนที่ขาดแคลน อันได้แก่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์และโรงเรียนสงเคราะห์เด็กยากจน
การศึกษานอกระบบโรงเรียน
สำหรับการศึกษาของประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน พระองค์ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษาสำหรับประชาชนที่อยู่ในชนบท ทรงริเริ่มตั้ง “ศาลารวมใจ” ตามหมู่บ้านชนบท เพื่อให้ประชาชนได้ใช้เป็นที่อ่านหนังสือ โดยพระราชทานหนังสือประเภทต่างๆ นอกจากนั้นมีพระราชดำริจัดทำโครงการพระดาบส หรือส่วนใหญ่เรียก “โรงเรียนพระดาบส” เมื่อ พ.ศ.2519 ให้ประชาชนที่มีใจรักวิชาการ ใฝ่หาความรู้ใส่ตนเองแต่ไม่สามารถหาที่เรียนได้เข้าเรียน ครูผู้สอนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ อาสาสมัคร โดยถือว่าการสอนวิชาความรู้ให้ศิษย์เป็นวิทยาทาน ไม่คิดค่าตอบแทนใดๆ
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
นอกเหนือจากโรงเรียนพระดาบสแล้ว พระองค์ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อเป็นศูนย์รวมของการศึกษาค้นคว้า ทดลองวิจัย และแสวงหาแนวทางและวิธีการพัฒนาด้านต่างๆ เพื่อเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าและให้ความรู้แก่ประชาชนผู้สนใจทุกหมู่เหล่า ปัจจุบันศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีทั้งหมด 6 ศูนย์ คือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เมืองสกลนคร จ.สกลนคร, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่, ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา
โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับ โรงเรียนในพระบรมราชูปถัมภ์ พระราชทานพระราชทรัพย์ช่วยเหลือ และให้ความอุปถัมภ์ หรือทรงให้คำแนะนำ ทั้งยังได้เสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมเยียนและพระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่ครูและนักเรียนเป็นประจำ เช่น โรงเรียนจิตรลดา, โรงเรียนราชวินิต, โรงเรียนวังไกลกังวล, โรงเรียนราชประชาสมาสัย, โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย, โรงเรียนเพื่อลูกหลานชนบท, โรงเรียนร่มเกล้า ฯลฯ
การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงเล็งเห็นปัญหาการขาดแคลนครูในท้องที่ชนบทห่างไกลเป็นปัญหาของการศึกษาไทย ที่มีมาตรฐานคุณภาพของแต่ละโรงเรียนแตกต่างกัน โรงเรียนเองก็ยังมีจำนวนน้อยไม่เพียงพอ การศึกษามีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจจะเป็นเครื่องบั่นทอนความเจริญทางจิตใจและการพัฒนาของทรัพยากรมนุษย์ในอนาคต จึงทรงพระกรุณาโปรด เกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์จำนวน 50 ล้านบาท ถวายเป็นทุนประเดิมก่อตั้งเป็นมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขึ้น เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2538 เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของชาติแผ่ขยายไปยังท้องถิ่นต่างๆ อย่างทั่วถึงทั้งประเทศ และส่งเสริมการศึกษาทุกระดับมีมาตรฐานที่สูงขึ้น
ทุนพระราชทาน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการศึกษาอย่างลึกซึ้ง ทรงทราบดีว่าเด็กและเยาวชนไทยมิได้ขาดสติปัญญาที่จะเล่าเรียน แต่ด้อยโอกาสและขาดทุนทรัพย์ ทั้งทรงตระหนักถึงความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ จำเป็นต้องส่งคนไปศึกษาและดูงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อนำความรู้มาเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศ จึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อตั้งกองทุนการศึกษา 1.ทุนมูลนิธิ “ภูมิพล” 2.ทุนมูลนิธิ “อานันทมหิดล” 3.ทุนเล่าเรียนหลวง 4.ทุนการศึกษาสงเคราะห์ในมูลนิธิราช-ประชานุเคราะห์ 5.ทุนมูลนิธิราชประชาสมาสัยในพระบรมราชูปถัมภ์ และมูลนิธิโรงเรียนราชประชาสมาสัย 6.ทุนนวฤกษ์ 7.ทุนการศึกษาพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะกรณี อาทิ ทุนพระราชทานแก่นักเรียนชาวเขา ทุนพระราชทานแก่นักเรียนเฉพาะสถานศึกษา และรางวัลพระราชทานแก่นักเรียนและโรงเรียนดีเด่น
ข้าพระพุทธเจ้า ข่าวการศึกษา หนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ “พระผู้เสด็จสู่สวรรคาลัย” และขอน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรับสนองพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ตลอดไป.
ขอบพระคุณที่มาจาก ไทยรัฐออนไลน์ วันที่ 17 ต.ค. 2559