เพิ่มเงินรายหัวครูและนักเรียน/ลดค่าใช้จ่ายภาษีโรงเรือน-ที่ดิน
ศธ.ออกแผนกู้ชีพโรงเรียนเอกชน ทำสกูล แมปปิ้ง ให้ กศจ.จัดสัดส่วนแบ่งเด็ก นร.ให้ รร.รัฐกับ รร.เอกชนเท่าๆ กัน ปรับสูตรเพิ่มเงินรายหัว นร.และครู และตั้งคณะกรรมการ 4-5 ชุด ศึกษาเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพิ่มคุณภาพด้านการเรียนการสอน
โรงเรียนไผทอุดมศึกษา นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เป็นประธานเปิดประชุมผู้บริหารสถานศึกษาเอกชนทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษาทั่วประเทศ ที่โรงเรียนไผทอุดมศึกษา พร้อมทั้งกล่าวตอนหนึ่งว่า ในส่วนของการศึกษาเอกชน ตนถือว่ามีพื้นความรู้อยู่บ้าง เนื่องจากเคยทำงานร่วมกับอาชีวศึกษาเอกชนเมื่อสมัยดำรงตำแหน่งเลขาธิการการอาชีวศึกษา (เลขาฯ กอศ.) ทำให้ทราบว่ามีเรื่องที่จะต้องขับเคลื่อนจำนวนมาก รวมถึงปัญหาต่างๆ ที่รอการแก้ไขด้วย ซึ่งตนวางแผนใน 4 เรื่องที่ต้องการให้ผลภายใน 6 เดือนนี้ ได้แก่ 1.การดูแลโรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีโรงเรียนเล็กที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และบางแห่งกำลังจะปิดตัว ซึ่งจากนโยบายของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ไม่ต้องการให้มีโรงเรียนไหนต้องปิดตัว ดังนั้นนี่ถือเป็นภารกิจแรกที่ตนตั้งใจจะทำ 2.ส่งเสริมให้โรงเรียนเอกชนเน้นคุณภาพ ดึงจุดเด่นของแต่ละโรงเรียนตนเองออกมา เช่น เก่งด้านภาษาอังกฤษ กีฬาและดนตรี เป็นต้น เพราะโรงเรียนเอกชนสามารถแสดงความสามารถตรงนี้ให้ผู้ปกครองเห็น และมั่นใจในการส่งบุตรหลานมาเรียน 3.เรื่องการลดรายจ่ายของสถานศึกษาเอกชน ซึ่งขณะนี้ผู้บริหารโรงเรียนต้องเจอศึกหนักและแบกรับภาระภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะโรงเรียนในเขตเมือง แม้ว่ารัฐจะสนับสนุนในส่วนของเงินอุดหนุนรายหัวให้ แต่ก็ยังไม่พอ ซึ่งถือว่ามีความไม่เป็นธรรม เนื่องจากรัฐบาลเองก็คาดหวังให้เอกชนเข้ามาช่วยในการจัดการศึกษา ดังนั้นตนจึงขอให้สมาคมสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย (สกช.) ตั้งคณะทำงาน 4-5 คน มาศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ และเร่งมาเสนอตนเพื่อนำเสนอต่อ รมว.ศธ.ต่อไป
นายชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า ข้อสุดท้ายคือ การเพิ่มรายได้ให้แก่สถานศึกษาเอกชน โดยดำเนินการใน 2 ส่วนคือ 1.เพิ่มนักเรียนโดยจัดทำ School mapping แบ่งสัดส่วนการรับนักเรียนระหว่างโรงเรียนรัฐ-เอกชน โรงเรียนสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และอาชีวศึกษารัฐ-เอกชนให้ชัดเจน โดยผ่านคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) 2.จะปรับหลักสูตรการคำนวณเงินอุดหนุนรายหัวใหม่ใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรก ค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนการสอนทั้งระบบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังคำนวณตัวเลขที่เหมาะสม ส่วนที่สองคือ การอุดหนุนเงินรายหัวในส่วนของเงินเดือนครู ตนชี้แจงแล้วว่าจำเป็นต้องปรับเพิ่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่เป็นภาระงบประมาณของภาครัฐมากนัก เพราะอนาคตประชากรลดลง จำนวนเด็กนักเรียนจะต้องลดลงตามไปด้วย ขณะเดียวกันจะเดินหน้าเรื่องงานวิชาการเพื่อส่งผลให้เห็นถึงคุณภาพของเด็กไทยให้ได้
และในวันเดียวกัน นายชัยพฤกษ์ได้เดินทางไปเป็นประธานเปิดการสัมมนาผู้บริหารวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนและการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 41 และกล่าวตอนหนึ่งว่า ในการประชุมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก 2 ประการ คือ การแสดงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระกรุณารับสมาคมวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทยให้อยู่ในพระราชูปถัมภ์ อีกทั้งยังเป็นการจัดการประชุมสามัญ ซึ่งจะมีการหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการพัฒนาอาชีวศึกษาเอกชนให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันขับเคลื่อน ในส่วนของ ศธ.เองก็ได้มอบหมายให้ทุกองค์กรหลักร่วมกันดูแล โดยในส่วนของอาชีวศึกษาจะเน้นการผลิตพัฒนากำลังคนระดับช่างฝีมือให้ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการคุยถึงแนวทางในการทำงานร่วมกับอาชีวศึกษาของรัฐด้วย เพื่อการทำงานสอดรับประสานกัน ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ.
ขอบคุณที่มาจาก ไทยโพสต์ วันที่ 7 ตุลาคม 2559