คอลัมน์ มุมข้าราชการ โดย ซี 12
การจัดการศึกษาของไทยในอนาคตจะมีแต่เพียงนักคิด อันได้แก่ นักการศึกษา นักวิชาการ นักวางแผน ผู้นำไปปฏิบัติ คือ ครูบาอาจารย์และนักเรียนซึ่งเป็นผลผลิตไม่ได้แล้ว
นี่เป็นประเด็นที่ นายจันโททัย กลีบเมฆ อดีตนักการศึกษาในระดับรองผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาหยิบยกมานำเสนอเป็นข้อคิดโดยระบุว่า
การจัดการศึกษาในอนาคตจำเป็นจะต้องมีทั้งนักคิด ผู้นำไปปฏิบัติ และผู้ให้การสนับสนุน ประกอบกันไปทั้ง 3 ส่วนอย่างกลมกลืนกัน เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่มีคุณภาพ
ในปัจจุบันเราคุ้นเคยกับการจัดการเรียนการสอนที่ครูเป็นผู้รับแนวความคิดและนโยบายมาจากระดับสูงเพื่อนำไปปฏิบัติโดยผู้ปกครอง ชุมชนและท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมเพียงเล็กน้อย เช่น กรรมการสถานศึกษา เป็นต้น ดังนั้น ในอนาคตควรมีการเพิ่มบทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่นให้มากขึ้น จะเปรียบเทียบให้เห็นพอสังเขป ดังนี้
บทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่นที่มีต่อการศึกษาในอดีตและปัจจุบันนั้น ในความเป็นจริงแต่ละโรงเรียนมีแนวโน้มจะอยู่อย่างโดดเดี่ยว การติดต่อระหว่างผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่น กับโรงเรียนมีน้อย ถึงน้อยมากหรือไม่มีเลย
งานหลักของครู ได้แก่ การป้อนคำสอนจากตำราให้ตรงกับหลักสูตรหรืองานที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่นไม่มีส่วนได้สำรวจ รับรู้ หรือแสดงความคิดเห็นและเหตุผลที่ผู้ปกครองชุมชน และท้องถิ่นต้องการให้โรงเรียนได้รับทราบ
การจัดการเรียนการสอนก็จะสำเร็จรูปจากกรม กระทรวงและครู เพื่อนำมาอบรมสั่งสอนให้แก่นักเรียนทั่วประเทศ ในส่วนของหลักสูตรก็จะเป็นแนวปฏิบัติที่สืบทอดกันมา ไม่ค่อยมีการปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้น
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและการประเมินก็คือ นักเรียนจะได้ประกาศนียบัตรเมื่อศึกษาจบหลักสูตร นักเรียนที่เรียนดีมีผลงานเยี่ยมยอดจะได้อยู่ใกล้ชิดครู และครูจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ ส่วนผู้ปกครองจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับผลการเรียนของนักเรียนเท่านั้น
ที่จริงแล้วบทบาทของผู้ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่นที่มีต่อการจัดการศึกษาในอนาคตควรจะเป็นดังนี้คือ
งานหลักของครู ได้แก่ การสร้างสรรค์ความสำเร็จให้เกิดตามสภาพสิ่งแวดล้อมของชุมชนและท้องถิ่นที่ตั้งของโรงเรียน โดยหลักสูตรจะเป็นเพียงการเน้นการแก้ปัญหาให้แก่นักเรียนเท่านั้น โดยครูผู้ปกครอง ชุมชนและท้องถิ่นต้องช่วยกันประชุม ปรึกษาหารือคิดวางแผนเพื่อกำหนดเป็นหลักสูตรท้องถิ่นของตนเอง และเอาไปใช้อย่างจริงจังทุกชั้นเรียน
หลักสูตรมีความหลากหลายตามความต้องการของผู้ปกครองชุมชน และท้องถิ่น ความสำเร็จในความหลากหลายของหลักสูตรขึ้นอยู่กับผู้เรียนและชุมชน โดยมีครูเป็นเพียงผู้ชี้แนะเท่านั้น
ผลงานแห่งความสำเร็จ คือ ผลงานที่ดีที่สุดของนักเรียนที่แข่งขันกับตัวเองไม่ใช่แข่งขันกับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน
การนำเสนอแนวคิดเหล่านี้เป็นเรื่องที่ดี แต่นักการศึกษาและนักวิชาการทั้งหลายจะมีเวลาและจิตใจที่กว้างขวางในการรับข้อคิดของผู้มีประสบการณ์บ้างหรือไม่ยังไม่แน่ใจนัก.
“ซี.12”
ขอบคุณที่มาจาก คอลัมน์ มุมข้าราชการ โดย ซี 12 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 29 ก.ย. 2559