ปิดคดีใหญ่โกงหวยครู-จับเผือกร้อนจัดซื้อซีซีทีวีโรงเรียนภาคใต้
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.59 พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาทุจริต ของ ศธ. เมื่อเร็วๆ นี้ ว่าที่ประชุมได้รายงานความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาทุจริต ของคณะทำงานจัดทำและดำเนินการแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ศธ. ประจำปีงบประมาณ 2559 ซึ่งมีเรื่องทุจริตที่เกิดขึ้นในแต่ละหน่วยงานของ ศธ.รวม 620เรื่อง เกือบทุกเรื่องเป็นปัญหาต่อเนื่องจากรัฐบาลที่ผ่านมา มีเพียง 11เรื่องที่เกิดขึ้นและได้รับการร้องเรียนในรัฐบาลชุดนี้ โดยได้ดำเนินการแก้ปัญหา และลงโทษทางวินัยเสร็จสิ้นแล้ว 230เรื่อง หรือคิดเป็น 1ใน3 ของปัญหาทุจริตทั้งหมด
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า ถือได้ว่าการตรวจสอบการทุจริตในปีนี้มีความก้าวหน้า แต่จะเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ไม่สามารถระบุได้ เพราะบางเรื่องต้องใช้เวลา มีผู้เกี่ยวข้องมาก โดยเรื่องที่สามารถแก้ปัญหาได้ลุล่วงส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีผู้เกี่ยวข้องไม่มาก จบง่าย อาทิ เรื่องเกี่ยวกับความผิดทางวินัย ส่วนเรื่องใหญ่และคดีสิ้นสุดแล้ว คือเรื่องการทุจริตการทำธุรกิจสลากกินแบ่งรัฐบาล ในสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 11 แห่งของ สพฐ. ซึ่งได้สั่งให้มีการสอบวินัยอย่างร้ายแรง แล้ว 7 แห่ง ที่เหลืออยู่ระหว่างทำเรื่องให้ดำเนินการลงโทษทางวินัย ส่วนเรื่องที่เป็นที่สนใจและอยู่ระหว่างการตรวจสอบ อาทิ การดำเนินการปรับปรุงห้องเรียน (e-Classroom) และห้องสมุดคุณภาพสู่มาตรฐานสากล(e-Library) งบแปรญัตติ ปีงบประมาณ 2555 ของ สพฐ. ยังอยู่ระหว่างการสืบสวนข้อเท็จจริง
"สำหรับเรื่องที่ได้รับการร้องเรียนใหม่ในรัฐบาลนี้ ที่สำคัญและสอบแล้วมีมูลตามที่ถูกร้องเรียน คือ กรณีการสอบคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งเข้ารับราชการ เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย กรณีที่มีความจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษ ครั้งที่ 2 ปี 2558 สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 20 อุดรธานี ที่มีการร้องเรียนว่าข้อสอบจากสถาบันติวแห่งหนึ่งตรงกับข้อสอบคัดเลือก จำนวน 40 ข้อ จากนี้ต้องรอสรุปข้อมูล เพื่อเสนอให้ต้นสังกัด ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยผู้เกี่ยวข้องต่อไป นอกจากนั้นยังมีกรณีปัญหาทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้โรงเรียน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามโครงการเซฟ โซน สคูล (ซีซีทีวี) ซึ่งตนเพิ่งได้รับเรื่องร้องเรียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่นำเรื่องเข้าสู่ระบบการตรวจสอบ และจากนี้คณะกรรมการอำนวยการฯ จะสรุปผลการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อเสนอให้ รมว.ศึกษาธิการ และนายกรัฐมนตรี รับทราบความคืบหน้า ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำมาตลอดว่าให้ทุกกระทรวงเร่งแก้ไขปัญหาทุจริต"
พล.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้จัดทำโปรแกรมควบคุมการตรวจสอบทุจริต เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนด โดยจะสามารถตรวจสอบได้ว่าเรื่องใดล้าช้า และผู้ที่ดูแลจะต้องให้เหตุผลว่าทำไมถึงช้า ซึ่งจะเริ่มใช้งานในปีงบประมาณ 2560 นี้
ขอบคุณที่มาจาก สยามรัฐออนไลน์ 28 กันยายน 2559