"วิษณุ"แนะขรก.ยึดสุจริตเป็นเกราะกำบัง ห่วงอปท.ใช้อำนาจเกินกรอบ แง้มมีชื่อขรก.ถูกสอบล็อต 8 เกือบ 80 คน คาดคลอดชื่อสัปดาห์หน้า โยนคสช.ตอบจัดเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน-หลังเลือกตั้งระดับชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อกำหนดแนวทางการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับหน่วยตรวจสอบ และปาฐกถาเรื่องการกระจายอำนาจกับการตรวจสอบการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ซึ่งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วม โดยนายวิษณุ กล่าวว่า การที่องค์กรท้องถิ่นได้รับคำสั่งจากการใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ตนเป็นห่วงกรณีของผู้บริหารงานไม่มีกฎหมายให้อำนาจแต่นึกว่าตัวเองมีอำนาจ จึงทำให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) จำนวนไม่น้อยทำผิด ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกยุจากลูกน้องให้ทำ และบางครั้งทำไปโดยอำนาจแต่กระโดดข้ามขั้นตอน ขณะที่บางคนยืนยันว่าไม่ผิดจนนำไปสู่บางองค์กรในการชี้ขาด ส่วนบางพวกทำผิดโดยสุจริต ทั้งนี้รัฐบาลจะเน้นการป้องกันการทุจริต ทำให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้ ก่อนนำไปสู่การปราบปรามที่อาจใช้เวลายาวนาน ทั้งนี้ 2 ปีที่ผ่านมา ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) ได้ตรวจสอบและมีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกมาซึ่งขณะนี้มีข้าราชการกว่า 300 คน ทั้งระดับปลัดกระทรวง อธิบดี ข้าราชการระดับซี 8 ซี 7 ซี 6 นายกอบจ. และนายกอบต. ถูกสั่งพักงานหรือให้ออก และล่าสุดจะมีรายชื่อข้าราชการที่ถูกตรวจสอบออกมาอีกเกือบ 80 คนซึ่งมาจากองค์กรท้องถิ่นทั้งสิ้น โดยจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประพฤติทุจริตมิชอบ เป็นเรื่องความไม่แน่ใจหรือไม่รู้จริงในอำนาจหน้าที่ของตัว ซึ่งองค์กรท้องถิ่นในบางจังหวัดระบุว่าเป็นเพราะผู้ว่าราชการจังหวัดขอความร่วมมือ เมื่อท้องถิ่นร่วมมือกลับเป็นฝ่ายผิด แต่ผู้ว่าฯไม่ผิด เพราะผู้ว่าฯอ้างว่าแค่ขอความร่วมมือ แต่ท้องถิ่นเป็นผู้ทำ
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า ต่อไปจะออกพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังของรัฐ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งจะใช้กับเจ้าหน้าที่ทุกคน ตั้งแต่คนต้นคิดจนมาถึงคณะรัฐมนตรี(ครม.) โดยพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ฯ มีความเข้มงวดมาก ต่อไปเอาโทรศัพท์ชาร์ตไฟหลวงก็ผิด นำซองตราครุฑใส่เงินก็ผิด ถ้าถามว่าแล้วจะอยู่อย่างไร ตนคิดว่าอยู่ได้คือ 1.วิธีปฏิบัติอื่นมี 2.นำหลักมาขู่ แต่มีข้อยกเว้น ทั้งนี้อาจจัดทำคู่มือปฏิบัติงานว่าสิ่งใดทำได้หรือทำไม่ได้ และควรมีกรรมการชำนาญการในเรื่องนี้ ซึ่งอาจนำสำนักงานตรวจแผ่นดิน(สตง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) คณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงมหาดไทย ครู และองค์กรท้องถิ่น ตอบข้อหารือว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ แต่ขอแนะนำให้ยึดหลักสุจริตเป็นเกราะกำบัง และต้องมีคำตอบว่าทำไปทำไม หากทำไม่ได้ก็อย่าทำ ส่วนการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดก่อนการเลือกตั้งระดับชาติหรือไม่นั้น ตนยังตอบไม่ได้ ต้องให้คสช.เป็นผู้ตอบ ซึ่งไม่ว่าจะจัดอะไรก่อนหรือหลัง ก็มีเวลาเหลือไม่มาก
จากนั้น รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการตรวจสอบบัญชีรายชื่อข้าราชการเกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ ล็อตที่ 8 จำนวน 80 คน ตามที่ศอตช.ส่งมาให้ ว่า ขอให้รายชื่อออกมาก่อนจึงจะอธิบาย โดยขณะนี้กำลังตรวจสอบว่าบุคคลที่มีรายชื่อยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มีการเปลี่ยนชื่อหรือตำแหน่งถูกต้องหรือไม่ เมื่อตรวจสอบเสร็จแล้ว จะส่งให้หัวหน้าคสช.ลงนาม ซึ่งคาดว่ารายชื่อจะออกมาในสัปดาห์หน้า.
ขอบคุณที่มาจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 21 กันยายน 2559 เวลา 11.59 น.