โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์
ประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบ-วิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยมาแล้วหลายครั้ง ตั้งแต่ระบบเอนทรานซ์แบบแพ้คัดออกซึ่งใช้มายาวนานกว่า 40 ปี เข้าสู่ระบบแอดมิชชั่นที่ผสมผสานระหว่างคะแนนสอบกลาง (โอเน็ต) กับคะแนนเฉลี่ยตลอดหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลาย (จีแพ็กซ์) รวมถึงระบบรับตรงที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเปิดสอบเอง
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ การปรับเปลี่ยนรูปแบบ-วิธีการคัดเลือกบุคคล ไม่ได้ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญ
มากไปกว่านั้น ดูเหมือนว่าความสุขของเด็กนักเรียนจะค่อยๆ ลดน้อยถอยลงตามลำดับ
ล่าสุด กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ภายใต้การนำของ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ มีแนวคิด “ปลดแอก” ความเครียดให้นักเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กมัธยมปลายที่ต้อง “วิ่งรอก” สอบตรงกับมหาวิทยาลัยตลอดทั้งปี ด้วยการจัดระเบียบระบบรับตรงใหม่
รูปธรรมของแนวคิดดังกล่าวถูกส่งผ่านมติที่ประชุมร่วมระหว่างศธ.ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เมื่อวันที่ 25 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเห็นตรงกันว่า ภายในปีการศึกษา 2561 มหาวิทยาลัยทุกแห่งจะเปิดรับตรงร่วมกัน เป็นระบบเดียวกันทั้งประเทศ
กล่าวคือจะใช้ข้อสอบกลางร่วมกัน ได้แก่ แบบวัดความถนัดทั่วไป (GAT)แบบวัดความถนัดทางวิชาชีพ/วิชาการ (PAT) และวิชาสามัญ 9 วิชา เมื่อนักเรียนทราบคะแนนแล้วนำไปยื่นสมัครกับคณะที่ต้องการ คะแนนนั้นก็จะถูกส่งเข้าไปยังส่วนกลางซึ่งทำหน้าที่เป็น “เคลียริ่งเฮาส์” จัดลำดับคะแนนตามจำนวนที่นั่ง
“การคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาตามระบบใหม่จะเริ่มดำเนินการได้ในเดือน มี.ค.-เม.ย. 2560 ส่วนการรับสมัครจะใช้ระบบเคลียริ่งเฮาส์ 2 ครั้ง เบื้องต้นจะให้นักเรียนเลือกได้ 4 สาขาวิชาทั้งสองครั้ง หลังจากเคลียริ่งเฮาส์ทั้งสองครั้งแล้ว หากมหาวิทยาลัยยังมีที่ว่างก็สามารถเปิดรับสมัครเองได้ แต่ต้องอยู่ในระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่กำหนด” พล.อ.ดาว์พงษ์ อธิบาย
แม้ว่าแนวคิดดังกล่าวจะเต็มไปด้วยเจตนาดี แต่ก็ยังถูกตั้งคำถามถึงผลเลิศของนโยบายว่าเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ “ปลายเหตุ” เท่านั้นหรือไม่
นั่นเพราะหากในภาพกว้างจะพบว่าต้นตอของปัญหาการศึกษาไทยอยู่ที่ระบบอันชำรุด ไม่สามารถช่วยให้เด็กนักเรียนรู้จักตัวเองหรือค้นหาทักษะ-ความถนัดเฉพาะของตัวเองได้ เด็กจึงเติบโตขึ้นอย่างไร้ทิศทาง สอดรับกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทรัพยากรและบุคลากรไม่เพียงพอ ไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านงานแนะแนวอาชีพ เด็กจึงไม่มีทางเลือก
เดิมพันเดียวที่เหลืออยู่ คือการสอบเข้ามหาวิทยาลัย
ว่ากันอย่างเป็นธรรม ใช่ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิกเฉยหรือไม่รับรู้ถึงปัญหา ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ นวัตกรรม Samsung Career Discovery “ค้นพบตัวเอง ค้นพบอาชีพ” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคเอกชนอย่างบริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กค้นหาความถนัดของตัวเอง และค้นพบเส้นทางอาชีพในอนาคต
นวัตกรรมดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนสามารถค้นพบความถนัดและทางเลือกของอาชีพได้เอง ผ่านการตอบคำถามเชิงจิตวิทยาวัดผล “พหุปัญญา” ทางเว็บแอพพลิเคชั่น [http:]www.samsungslc.org/scd ซึ่งจะแปรผลออกมาเป็นกราฟวงกลม แสดงสัดส่วนของความถนัดในแต่ละด้าน
สำหรับทฤษฎีพหุปัญญานั้น ถูกคิดค้นและนำเสนอโดย ศ.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาการศึกษาแห่งฮาร์วาร์ด ซึ่งแบ่งปัญญาของมนุษย์ออกเป็น 8 ด้าน มนุษย์ทุกคนมีครบในทุกๆ ด้าน เพียงแต่จะมีบางด้านโดดเด่นแตกต่างกันออกไป
ทฤษฎีนี้ไม่ได้เสนอขึ้นมาเพื่อจัดอันดับว่าใครมีปัญญามากน้อยกว่ากัน แต่มีไว้เพื่อให้คนได้ค้นพบและใช้ปัญญาที่ตัวเองถนัดเพื่อประโยชน์แก่สังคม
นิยดา พงศ์พาชำนาญเวช คุณครูโรงเรียนสตรีวัดอัปสรสวรรค์ กทม. ยอมรับว่า นวัตกรรมช่วยค้นหาความถนัดของเด็กมีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนมาก โดยเฉพาะกับเด็กชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ซึ่งอยู่ในวัยที่เริ่มค้นหาตัวเอง
“เด็กส่วนใหญ่จะมีอาชีพในอุดมคติไม่ตรงกับความเป็นจริง ฉะนั้นเมื่อเรามีเครื่องมือคือแบบสำรวจที่ช่วยให้ค้นพบตัวเองได้ก่อน จะช่วยกระตุ้นให้เขารู้ตัวว่าต้องฝึกฝนทักษะด้านใดให้ตรงกับความสามารถที่แท้จริง” นิยดา ระบุ
สอดคล้องกับ บุญยงค์ มีพร้อม หัวหน้างานแนะแนวชั้น ม.6 โรงเรียนมัธยมวัดมกุฏกษัตริย์ กทม. ที่ระบุว่า การใช้สื่อใหม่มาช่วยสนับสนุนการเรียนการสอน เป็นเครื่องมือเบื้องต้นในการตัดสินใจ จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนดีกว่ามีเพียงแต่ครูเป็นผู้แนะนำ
จริยาภรณ์ คุ้มพันธ์ คุณครูโรงเรียนชุมชนวัดเสด็จ จ.ปทุมธานี บอกว่า ได้นำเครื่องมือไปทดสอบกับเด็กชั้น ม.1-3 พบว่าเด็กตื่นตัวเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กที่กำลังต้องเลือกแผนการเรียน ขณะที่ครูก็ได้รับประโยชน์ จากการนำเครื่องมือไปใช้ร่วมกับกระบวนการในห้องเรียน
หลายนวัตกรรมอาจต้องนำมาใช้เพื่อหนุนเสริมระบบการศึกษาไทยให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เด็กมีทางเลือกและมีอิสระที่จะเลือกตามความถนัดและความชื่นชอบของตัวเอง
ขอบคุณที่มาจาก โพสต์ทูเดย์ วันที่ 19 กันยายน 2559