แฉบริษัทกว่า 40 แห่ง อาศัยช่องทางขายตรงหลวกลวงผู้บริโภคสูญเงิน 1 หมื่นล้าน งัดสารพัดกลโกง ทั้งสวมสิทธิ์ อึ่งซื้อขายใบอนุญาตฯใบละ 5-10 ล้าน ชวนเชื่อจ่ายผลประโยชน์สูงเกินจริง ด้านสคบ.โชว์เชือดแล้ว 1 ราย ปรับ 3 แสนบาทไม่ทำตลาดตามแผนธุรกิจที่ยื่นขอ ระบุตรวจพบ 70 บริษัทยื่นเปลี่ยนชื่อ ชี้วันี้ยังไม่มีบทลงโทษผู้ขายใบอนุญาต รอกฎหมายใหม่บังคับใช้
นายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันการหลอกลวงผู้บริโภคผ่านธุรกิจขายตรงยังมีให้เห็นทุกวัน ซึ่งผู้ที่ได้รับความเสียหายบางรายที่ต้องการได้รับเงินคืนก็มักจะไปหลอกลวงผู้บริโภคต่อ ทำให้มีจำนวนผู้เสียหายเพิ่มทวีคูณ โดยที่ผ่านมามีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับทางสมาพันธ์ฯ กว่า 20 ราย ที่ขณะนี้สมาพันธ์ฯ มีข้อมูลของบริษัทที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายหลอกลวงแล้วกว่า 10 บริษัท ซึ่งพร้อมให้ข้อมูลกับหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการนำไปดำเนินการต่อได้ทันที
สำหรับรูปแบบบริษัทขายตรง ที่มีพฤติการณ์หลอกลวงแต่ยังไม่ได้เป็นคดี ปัจจุบันมีด้วยกันมากกว่า 40 บริษัท ได้แก่ 1. ใช้รูปแบบธุรกิจขายตรงแต่ไม่ได้ขออนุญาตดำเนินธุรกิจกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เช่น ธุรกิจเติมเงินมือถือ ธุรกิจทัวร์ท่องเที่ยว สมาคมฌาปณกิจสงเคราะห์ เป็นต้น 2. การซื้อใบอนุญาตจากบริษัทที่ได้จดทะเบียนกับสคบ. และ3. มีใบอนุญาตจากสคบ. แต่เปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจจากเดิมที่ยื่นขออนุญาตไว้ โดยเฉพาะการจ่ายผลประโยชน์ที่มากเกินความเป็นจริง ที่เรียกว่า Over Pay เพื่อให้คนสนใจทำธุรกิจซึ่งในที่สุดบริษัทจ่ายผลตอบแทนไม่ได้ก็จะทำการปิดกิจการหนี และ 4. เปลี่ยนสินค้าที่เคยขออนุญาตกับทางสคบ.ไว้ เพื่อใช้หลอกลวงผู้บริโภค
“ปัจจุบันมูลค่าความเสียหายกว่า 1 หมื่นล้านบาทที่กลึ่มบริษัทเหล่านี้ใช้รูปแบบขายตรงมาหลอกลวง โดยมีจำนวนผู้เสียหาทั้งระบบกว่า 1 แสนราย รูปแบบการหลอกลวงก็มีหลากหลายวิธี อย่างกรณีการสวมใบอนุญาตหรือการซื้อขายใบอนุญาตสคบ. ก็เป็นวิธีการหนึ่งที่ถูกนำมาใช้ เพราะมีความน่าเชื่อถือหรือบางครั้งบริษัทอยู่ระหว่างการรอพิจารณาคดี ก็มาตั้งบริษัทใหม่หลอกต่อ ส่วนใบอนุญาตของสคบ.ที่ซื้อขายกันมีราคาตั้งแต่ 5-10 ล้านบาท เพราะปัจจุบันมีกว่า 500 บริษัทที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจ จากจำนวนที่จดทะเบียนกว่า 1,000 บริษัท”
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ 14 กันยายน 2559