221ปี สดุดี สมเด็จพระพุฒาจารย์(โต พรหมรังสี)
...................................
ลุ 17 เมษาฯ เวียนบรรจบ
สองร้อยยี่สิบเอ็ดครบ สบดีถี
คือวันคล้ายวันเกิดองค์พระมุนี
สงเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) วัดระฆัง
ขอน้อมอภิวาทเบื้องบาทศาสนสงฆ์
พระผู้ทรงเปี่ยมล้นด้วยมนต์ขลัง
พระคาถาชินบัญชรติดตัวตรัง
พระผู้ทรงพลังความเมตตา
“หมั่นสร้างบารมีไว้...แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง”
คือวาทะเปล่งประกาศธรรมเทศนา
หลากหลายบทรสถ้อยร้อยเสวนา
ล้วนให้ศิษยาพาพึ่งตน
แม้จะสองร้อยกว่าปีที่พ้นผ่าน
แต่สายธารศรัทธาธรรมนำกุศล
ระลึกชอบเพียรชอบยอบกมล
สาธุชนคนใฝ่ดี น้อมเกศี บูชาเชิด เทิดพระคุณ.
................................
ด้วยความเคารพ-ศรัทธาในพระบารมี
...............
ประวัติเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
--------------------------------------------------------------
1 ประวัติย่อเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
สถานที่เกิด
1.สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเรียบเรียงประวัติของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ไว้เป็นความย่อๆเรียกว่า “เรื่องตั้งพระราชาคณะผู้ใหญ่ในกรุงรัตนโกสินทร์” พิมพ์ขึ้นปีพ.ศ. 2466 กล่าวว่า “…สมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามเดิมว่า “โต” เมื่ออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ได้นามฉายาว่า “พรหมรังสี” อุบัติขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 5 ขึ้น 12 ค่ำ ปีวอก ตรงกับวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2331 ที่บ้านท่าหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา…”
2.มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันทน์) รวบรวมประวัติเจ้าประคุณสมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี และเรียบเรียงเรื่องปีพ.ศ. 2473 กล่าวว่า “…สมเด็จฯพระพุฒาจารย์ (โต) อุบัติขึ้นบนบ้านที่ปลูกใหม่บางขุนพรหม กรุงเทพ…”
บรรพชาและอุปสมบท
เมื่อถึงวัยพอสมควรแล้วได้บรรพชาเป็นสามเณรในพระพุทธศาสนา ต่อมาปรากฎว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงโปรดและเมตตาสามเณรโตเป็นอย่างยิ่ง ครั้นอายุครบอุปสมบทปีพ.ศ. 2350 ได้โปรดเกล้าฯให้อุปสมบทเป็นนาคหลวงที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีสมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นพระอุปัชฌาย์ ในรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศล้านภาลัย ทรงโปรดฯรับไว้ในพระราชูปถัมภ์
ธุดงควัตร และไม่ปรารถนาสมณศักดิ์
ครั้นถึงรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จะทรงสถาปนาสมณศักดิ์เพื่อยกย่องในกิตติคุณ และเกียรติคุณแต่ท่านไม่ยอมรับ (ปกติท่านไม่ปรารถนายศศักดิ์ดังจะเห็นได้จากเจ้าประคุณสมเด็จฯ ศึกษาพระธรรมวินัยแตกฉาน แต่ไม่ปรารถนายศศักดิ์จึงไม่ยอมเข้าแปลหนังสือเพื่อเป็นพระเปรียญ) ต่อมาเล่ากันว่า “…ท่านออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ และได้สร้างปูชนียสถานในที่ต่างๆกัน เช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ไว้ที่วัดสตือ ตำบลไก่จัน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างพระพุทธรูปหลวงพ่อโต วัดไชโย จังหวัดอ่างทอง นอกจากนี้ยังมีปูชนียสถานที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้สร้างไว้ในที่ต่างๆอีก ซึ่งทุกอย่างที่ท่านสร้างจะมีขนาดใหญ่โตสมกับชื่อของพระคุณท่าน อนึ่ง เจ้าประคุณสมเด็จฯ ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ ณ ที่ใดๆท่านย่อมเป็นที่รักใคร่ของมหาชนทุกหนทุกแห่งและด้วยบารมีของเจ้าประคุณสมเด็จฯนี้เอง จึงทำให้บรรดาพุทธศาสนิกชนในยุคนั้นเคารพเลื่อมใส ดังจะเห็นได้จาก พระพุทธรูปองค์ใหญ่โตที่ท่านสร้างจะต้องใช้ทุนทรัพย์และแรงงานจำนวนมากในการก่อสร้าง จึงจะทำได้สำเร็จ ฉะนั้น จึงสรุปได้อย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่าเมื่อท่านจะทำการใดคงจะต้องมีผู้อุทิศทั้งทรัพย์และแรงงานช่วยทำการก่อสร้างปูชนียวัตถุจึงสำเร็จสมดังนามของท่านทุกประการ
สมณศักดิ์สมเด็จพระพุฒาจารย์ฯ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ทรงโปรดปรานสมเด็จฯเป็นอย่างมาก ต่อมาในปี พ.ศ. 2395 ได้พระราชทานสมณศักดิ์ครั้งแรกถวายเป็นพระราชาคณะที่พระธรรมกิติ ขณะนั้นท่านอายุ 65 ปี ครั้งนั้นท่านยอมรับสมณศักดิ์ ( โดยมีเหตุผลที่ทำให้ต้องยอมรับสมณศักดิ์ ) ครั้นต่อมาอีก 2 ปี คือพ.ศ. 2397 ได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นผู้ใหญ่ “ พระเทพกวี “ อีก 10 ปี ( พ.ศ. 2407 ) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ มีนามจารึกตามหิรัญบัตรว่า “สมเด็จพระพุฒาจารย์” เอนกปรีชา วิสุทธศีลจรรยาสมบัติ นิพัทธุตคุณ สิริสุนทร พรตจาริก อรัญญิกคนฤศร สมณนิกรมหาปริณายก ตรีปิฎกโกศล วิมลศีลขันธ์ ณ วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร พระอารามหลวงฯ อนึ่งกิตติคุณ และชื่อเสียงของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้ขจรกระจายไปทั่วทิศานุทิศว่า “ เจ้าประคุณสมเด็จ คือ ที่พึ่งของสัตว์โลกผู้ตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ทั้งมวล”
องค์หลวงพ่อโตอนุสรณ์งานก่อสร้างครั้งสุดท้าย
ในราวปี พ.ศ. 2410 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้มาเป็นประธานก่อสร้างปูชนียวัตถุครั้งสุดท้ายที่สำคัญของท่าน คือ องค์หลวงพ่อโต ที่วัดอินทรวิหาร ครั้นท่านทำการก่อสร้างได้สูงถึงพระนาภี (สะดือ) ก็มีเหตุให้ไม่สำเร็จ เพราะวันเสาร์ แรม 2 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2415 เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒจารย์ (โต) พรหมรังสี ได้สิ้นชีพตักษัย ( มรณภาพ ) บนศาลาเก่าบางขุนพรหม สิริอายุคำนวณได้ 85 ปีเศษ และมีชีวิตอยู่ในสมณเพศได้ 65 พรรษา
………………………………………………..
ที่มา- เว็บคนเมืองบัว.........ขอบคุณครับ