นักวิชาการชี้ระบบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยใหม่ แก้ปัญหาวิ่งรอกสอบได้แต่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะมหา’ลัยเล็ก เพราะมหาวิทยาลัยดังดูดเด็กเก่ง สุดท้ายเด็กเครียด “พงษ์อินทร์” แจงเด็กม.5 ประเดิมใช้ระบบใหม่ คาด5ก.ย.ได้ชื่อระบบใหม่ ย้ำไม่ใช่เอนทรานซ์
ตามที่ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติปรับระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา โดยจะมี 3 ระบบคือ 1.ระบบโควตา ที่มหาวิทยาลัยจะต้องไม่ใช้การส อบ เช่น โควตานักกีฬา เด็กโอลิมปิกวิชาการ 2.ระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ 2 ครั้ง ใช้ข้อสอบกลางและ สอบเพียง 1 ครั้งและ 3.ระบบรับตรง ที่มหาวิทยาลัยดำเนินการได้เอง เพื่อให้ได้เด็กครบตามแผนที่วางไว้ แต่ต้องทำหลังจากเคลียริ่งเฮ้าส์ นั้น ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าระบบการคัดเลือกใหม่จะสามารถแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ได้ได้เพียง 60 % เช่น ลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ได้ในระดับหนึ่ง แต่อาจจะเกิดปัญหาใหม่ คือ ทำให้เกิดความลักลั่นและไม่เป็นธรรม ของมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก มหาวิทยาลัยราชภัฎ(มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเอกชน ที่มาร่วมกันรับในระบบใหม่ เพราะมหาวิทยาลัยชื่อดังและมหาวิทยาลัยรัฐจะดูดเด็กเก่งไปก่อน แต่ถ้า มรภ .มทร.และมหาวิทยาลัยเอกชนไม่เข้าร่วม ก็จะเกิดมหกรรมการแย่งเด็กกัน
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะที่การรับตรงหลังการเคลียริ่งเฮ้าส์ ถ้ามหาวิทยาลัยกำหนดจำนวนรับในระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ จำนวนหนึ่งเท่านั้น แล้วก๊กจำนวนรับมาเปิดรับตรงภายหลัง ซึ่งก็จะทำให้เกิดการวิ่งรอกสอบกลับมาเช่นเดิม โดยเฉพาะในคณะหรือมหาวิทยาลัยดัง ๆ ซึ่งก็จะเกิดปัญหาการสละสิทธิ์ เพื่อเข้าคณะใหม่ อย่างไรก็ตามคง ไม่มีระบบคัดเลือกใดที่สมบูรณ์แบบ แต่ระบบใหม่ ไม่ควรเปิดช่องให้มหาวิทยาลัยรับตรงหลังการเคลียริ่งเฮ้าส์อีก เพราะจะเป็นช่องว่างให้มหาวิทยาลัยนำไปเปิดรับตรง ซึ่งเด็กก็จะเดือดร้อน ขณะที่มหาวิทยาลัยก็จะพบปัญหาการสละสิทธิ์ก็เดือดร้อนเช่นกัน และการเปิดให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆไปกำหนดองค์ประกอบในการคัดเลือกเอง จะส่งผลให้เด็กเครียดมากขึ้น
ผศ.ดร.พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม ประธานแอดมิชชันฟอรั่ม ของ ทปอ. กล่าวว่า ระบบการรคัดเลือกใหม่นั้นยังไม่มี ชื่อเรียก แต่คาดว่า ในการประชุมวันที่ 5 ก.ย. นี้ ที่ ทปอ. มรภ.และ มทร. จะหารือร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการ น่าจะได้ข้อสรุปว่าจะเรียกระบบคัดเลือกใหม่ได้ ส่วนเด็กที่จะใช้ระบบใหม่รุ่นแรกคือเด็กที่ขณะนี้กำหลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
ศ.นพ.อุดม คชินทร อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ประธาน ทปอ. กล่าวว่า ตน อยากให้ทุกมหาวิทยาลัย ทั้งทปอ. มรภ. และมทร. ใช้ระบบเดียวกัน ย้ำระบบใหม่ไม่ใช่ระบบเอนทรานซ์ เพราะดูหลายอย่างมาประกอบกัน เรียง และทปอ.ไม่ถอยหลังกลับไปใช้ระบบเดิม
ดร.เกรียงศักดิ์ โชควรกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มรภ. ชัยภูมิ กล่าวว่า ระบบรับตรงกลางร่วมกัน เป็นระบบที่ดี แต่อาจจะไม่เหมาะกับบริบทของมหาวิทยาลัยเล็กๆ รวมถึงมรภ. มทร.บางแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาได้รับผลกระทบรับนักเรียนเข้ได้น้อยอยู่แล้ว ถ้าจะให้มหาวิทยาลัยทั้งหมดมาใช้ระบบเดียวกัน ในส่วนมรภ.ให้ใช้เฉพาะมหาวิทยาลัย ที่มีความพร้อมก่อน ส่วนมหาวิทยาลัย เล็ก ๆ ให้อิสระในการรับนักเรียนเข้าเรียน
ขอบคุณที่มาจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันศุกร์ที่ 2 กันยายน 2559 เวลา 15.40 น.